x close

ประวัติช็อกโกแลต ครั้งหนึ่งเคยเป็นสัญลักษณ์ของชนชั้นสูง

          เคยสงสัยไหมว่า ทำไมช็อกโกแลตถึงมีราคาแพง ? ช็อกโกแลตมีต้นกำเนิดมาจากที่ใด ? และใครเป็นคนค้นพบช็อกโกแลต ? วันนี้เรามีคำตอบ ! 

ประวัติช็อกโกแลต

          ไหน ๆ ก็จะใกล้ช่วงวันวาเลนไทน์กันแล้ว เชื่อว่าหลายคนน่าจะเลือกช็อกโกแลตในรูปแบบต่าง ๆ เป็นของขวัญให้กับคนพิเศษแน่ ๆ เอาอย่างนี้แล้วกัน ก่อนจะไปเดินเลือกซื้อกันให้เพลิดเพลิน กระปุกดอทคอมเลยอยากจะให้ทุกคนได้ลองทำความรู้จักกับที่มาของช็อกโกแลตกันสักหน่อย เชื่อว่าถ้าได้ลองอ่านแล้วจะต้องทึ่ง !

จุดกำเนิดของช็อกโกแลต

          ช็อกโกแลต เกิดขึ้นมาจากภูมิปัญญาของมนุษย์ในสมัยโบราณกว่า 2,000 ปีที่แล้วโน่น ตามหลักฐานเชื่อว่า เป็นชาวมายาและชาวแอซแทคแห่งอารยธรรมเมโสอเมริกา (หรือเมืองเม็กซิโก ซิตี้ในปัจจุบัน) ซึ่งแรกเริ่มเดิมที ชาวมายาได้ค้นพบว่า เมล็ดจากต้นคาเคา (Cacao) มีความลับที่น่าทึ่งซ่อนอยู่และสามารถนำมาประกอบอาหารได้อย่างไม่น่าเชื่อ 

          โดยครั้งแรกที่ชาวมายาค้นพบต้นคาเคาที่ป่าฝน และรู้ว่าต้นคาเคานี้สามารถนำมาทำอาหารได้ ชาวมายาได้นำเมล็ดคาเคามาทำเป็นเครื่องดื่ม ด้วยวิธีการนำเมล็ดคาเคามาบดให้ละเอียดแล้วนำไปผสมกับเครื่องปรุงรสอื่น ๆ ที่มีในถิ่นกำเนิดจนได้เครื่องดื่มที่มีรสชาติขมและค่อนข้างเฝื่อนขึ้นมา จากนั้นก็ได้พัฒนาเป็นอาหารอื่น ๆ ตามวิวัฒนาการของพวกเขา ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่น่าทึ่งเอามาก ๆ ในยุคนั้น พวกเขาจึงได้ให้ความหมายของคำว่า คาเคา (Cacao) เอาไว้ว่าเป็นอาหารแห่งเทพ จากนั้นชาวมายาเลยยกขบวนไปนำต้นคาเคาจากป่าฝนมาปลูกไว้ที่บ้านของตัวเองเสียเลย จากนั้นก็เก็บเมล็ดคาเคามาประกอบอาหาร เช่น นำไปหมัก คั่ว และบดให้เป็นเนื้อเหนียว ๆ ไว้สำหรับชงเป็นเครื่องดื่ม โดยนำไปผสมน้ำและเครื่องเทศ เช่น พริกไทย หรือแป้งข้าวโพด และนี่ก็เป็นจุดกำเนิดของเครื่องดื่มช็อกโกแลตนั่นเอง



จากเมล็ดคาเคากลายเป็นเครื่องบรรณาการ


          ในช่วงราว ๆ คริสต์ศตวรรษที่ 14 หลังจากผลผลิตจากเมล็ดคาเคาได้ถือกำเนิดขึ้นและเริ่มมีคนจำนวนมากรู้แล้วว่า ต้นคาเคานั้นสามารถนำมาทำอาหารได้ ผลผลิตต่าง ๆ จากเมล็ดคาเคาก็เริ่มเข้าไปเป็นที่รู้จักในหมู่ชาวแอซเทค (ในขณะนั้นเป็นผู้ครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของอารยธรรมเมโสอเมริกา หรือเมืองเม็กซิโก ซิตี้ในปัจจุบัน) จึงได้เริ่มมีการซื้อขายเมล็ดคาเคากับชาวมายา จากนั้นช็อกโกแลตจากชาวมายาก็กลายเป็นที่ชื่นชอบอย่างมากของชาวแอซแทค ถึงขั้นที่ว่า ชาวแอซเทคมีการเรียกเก็บเมล็ดคาเคาเป็นเครื่องบรรณาการจากพลเมืองของตนและเชลยศึกแทนเงินเลยทีเดียว ซึ่งชาวแอซเทคนิยมนำมาทำเป็นเครื่องดื่มช็อกโกแลต นำมาผสมกับเครื่องเทศต่าง ๆ ให้มีรสชาติมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับชาวมายายุคแรก ๆ นั่นเอง

          ซึ่งในเวลาต่อมาเครื่องดื่มช็อกโกแลตก็ถูกยกให้กลายเป็นเครื่องดื่มเฉพาะไฮโซเท่านั้น จะมีแค่พวกเชื้อพระวงศ์ ขุนนางที่มียศฐาบรรดาศักดิ์ และพวกที่มีหน้ามีตาในสังคมเท่านั้นถึงจะได้ดื่มช็อกโกแลต และจะนำไปดื่มในช่วงที่มีสาระสำคัญ ๆ เท่านั้น หลังจากนั้นช็อกโกแลตจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ที่มีบทบาทสำคัญในพิธีพิเศษ ๆ ของราชวงศ์และพิธีทางศาสนา เมล็ดคาเคาในยุคนั้นเลยถูกใช้เป็นเครื่องสักการะเทพเจ้าไปโดยปริยาย

คำว่า "Chocolate" มาจากไหน ?

          ว่ากันว่า คำว่า Chocolate มาจากภาษามายา หมายถึง การดื่มช็อกโกแลต เป็นการรวมกันของคำว่า "Chocol" ของชาวมายาที่แปลว่า "ร้อน" แล้วมาผสมกับคำว่า "atl" ของชาวแอซเทค แปลว่า "น้ำ" รวมกันเป็น "chocolatl" หรือ "ช็อกโกลาตส์" นั่นเอง ก่อนจะเพี้ยนมาเป็นคำว่า ช็อกโกแลต (Chocolate) ตามสำเนียงของชาวอังกฤษในช่วงต่อมานั่นเอง



สเปน ผู้นำเข้าช็อกโกแลตไปยังยุโรป

          ความนิยมของช็อกโกแลตก็เป็นที่เลื่องลือมาจนถึงทวีปยุโรป โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากชาวสเปน (ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 15) กับบุรุษนักสำรวจชาวสเปนที่มีนามว่า เฮอร์นันโด คอร์เทส เขาเข้าไปแสวงหาความมั่งคั่งที่อาณานิคมของชาวแอซเทคแล้วก็ไปพบเจอกับช็อกโกแลตนี้เข้า ก็เลยนำช็อกโกแลตกลับมายังประเทศด้วย และก็แน่นอนเลยว่า เจ้าช็อกโกแลตก็กลายเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็ว และไม่นานช็อกโกแลตก็ได้รับความนิยมไปทั่วทั้งยุโรป เป็นจุดเริ่มต้นในการค้าขายเมล็ดคาเคาระหว่างสเปนกับแอซเทคอย่างเป็นทางการ

          ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 หลังจากเกิดสงครามระหว่างสเปนกับชาวแอซเทค และสเปนก็เป็นฝ่ายชนะสงคราม จึงบังคับให้ชาวแอซเทคส่งต้นคาเคามาเป็นเครื่องบรรณาการแทนเงิน และเข้ายึดครองไร่คาเคาของชาวแอซเทคทั้งหมดเสียเลย 

          แต่การดื่มช็อกโกแลตของชาวสเปนนั้นจะแตกต่างจากต้นตำรับชาวมายาและชาวแอซแทค จะไม่นิยมดื่มช็อกโกแลตที่มีรสชาติขมและเฝื่อน จึงริเริ่มนำช็อกโกแลตไปต้มแล้วใส่ส่วนผสมอื่น ๆ ลงไป ก็จะได้ช็อกโกแลตที่มีรสชาติดีขึ้นกว่าเดิม และไม่นานก็มีคนหัวใจคิดจะเติมน้ำตาลลงไปในช็อกโกแลต แถมยังใส่ผงอบเชยหรือซินนามอนลงไปด้วย เท่านั้นแหละ ช็อกโกแลตรสชาติหอมหวานชวนดื่มก็ได้ถือกำเนิดขึ้นอย่างจริงจัง ไม่เท่านั้น สเปนยังได้คิดค้นเครื่องไม้เครื่องมือใหม่ในการทำช็อกโกแลตแบบจริงจังชื่อว่า "โมลินีโอ" เป็นไม้สำหรับเอาไว้คนช็อกโกแลตให้กลายเป็นโฟมละเอียดง่ายขึ้น และจากนั้นช็อกโกแลตก็กลายเป็นที่รู้จักและเป็นที่นิยมไปทั่วยุโรป

ยุโรปเจ้าแห่งช็อกโกแลต

          หลังจากที่สเปนนำพาช็อกโกแลตเข้ามาเป็นที่รู้จักและเป็นที่นิยม ในหมู่คนชั้นสูง และกลุ่มเจ้าขุนมูลนาย คนมีอันจะกินของยุโรป หลาย ๆ ประเทศในยุโรป เช่น อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ และฝรั่งเศส ก็เลยนำเอาพันธุ์พืชคาเคาส่งไปปลูกตามเมืองขึ้นของตัวเองเสียเลย พอเมืองขึ้นเหล่านั้นได้ผลผลิตจากต้นคาเคามาก็ส่งกลับมาให้เจ้าอาณานิคมมากมายมหาศาล และนี่เองที่ทำให้ยุโรปกลายเป็นอาณานิคมแห่งช็อกโกแลตไปโดยปริยาย ส่วนชาวยุโรปจะนิยมบดเมล็ดคาเคาแล้วนำไปชงดื่มกับน้ำตาล และให้ถือว่าเป็นสินค้ามีค่าราคาแพงตั้งแต่บัดนั้น

ช็อกโกแลต สัญลักษณ์ของชนชั้นสูง

          ในหลายยุคที่ผ่านมาตั้งแต่ชาวมายา แอซแทค และยุโรป ช็อกโกแลตและเมล็ดคาเคาดูมีมูลค่าสูงมาก ถึงขั้นที่บังคับให้ส่งเป็นเครื่องบรรณาการ จึงกลายเป็นเฉพาะกลุ่มคนชนชั้นสูงและคนมีฐานะเท่านั้นที่จะ หาซื้อมากินได้ ในฝรั่งเศสก็เช่นเดียวกัน ช็อกโกแลตถือเป็นสินค้าผูกขาด เพราะพระราชินีแอนแห่งออสเตรีย โปรดปรานในการดื่มช็อกโกแลตมาก และมีพระราชบัญญัติห้ามไม่ให้ผู้ใดยกเว้นขุนนางฝรั่งเศสเท่านั้นที่สามารถดื่มช็อกโกแลตได้ เหตุนี้เองช็อกโกแลตจึงกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งชนชั้น แต่ถึงแม้ในอังกฤษจะไม่ถึงขั้นสร้างพระราชบัญญัติห้ามเอาไว้ แต่ก็จะมีแค่คนที่มีเงินเท่านั้นถึงจะซื้อหามาดื่มได้

ร้านช็อกโกแลตแห่งแรกของโลก

          หลังจากที่ช็อกโกแลตถูกใช้เป็นเครื่องบรรณาการในช่วงยุคล่าอาณานิคมมาอย่างยาวนาน ในเวลาต่อมาเมื่อชาวอังกฤษผู้มีฐานะก็ได้ซื้อเมล็ดคาเคาแล้วเปิดเป็นร้านช็อกโกแลตแห่งแรกในกรุงลอนดอน (ปี ค.ศ. 1657) โดยเปิดเป็นร้านสภากาแฟ ผู้คนใช้เป็นสถานที่พบปะพูดคุยพร้อมดื่มช็อกโกแลตร้อน ๆ ไปด้วย แต่ก็จะมีเฉพาะคนมีอันจะกินเท่านั้นแหละที่สามารถเข้าไปใช้บริการได้ บางแห่งเปิดรับเฉพาะผู้ชายด้วยนะจ๊ะ



วิวัฒนาการของช็อกโกแลต


          หลายร้อยปีผ่านไป ขั้นตอนในการทำช็อกโกแลตก็ยังไม่เคยเปลี่ยน เป็นการใช้แรงงานคนในการบดเมล็ดคาเคา ซึ่งแน่นอนว่า วิธีนี้ไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นได้ ใช้เวลานาน และค่าใช้จ่ายสูง จึงทำให้ช็อกโกแลตมีต้นทุนที่สูงตามไปด้วย และนี่เป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมในยุคก่อนหน้านี้ ช็อกโกแลตถึงกลายเป็นอาหารของชนชั้นสูง และคนมีอันจะกิน

          จนมาถึงยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม (ปลายศตวรรษ 1700) เมื่อนักประดิษฐ์ได้คิดและสร้างเครื่องจักรไอน้ำสำเร็จ ทำให้กระบวนการผลิตช็อกโกแลตจำนวนมากแต่ใช้เวลาน้อย และต้นทุนการผลิตต่ำกลายเป็นเรื่องที่ง่ายดายมากยิ่งขึ้น และกระบวนการทำช็อกโกแลตก็ถูกปรับเปลี่ยนให้รวดเร็วและง่ายขึ้น ราคาของช็อกโกแลตจึงสามารถจับต้องได้มากขึ้น คนทั่วไปก็สามารถหาซื้อมากินได้เท่า ๆ กัน

          ช็อกโกแลตก็ถูกประยุกต์จากรุ่นสู่รุ่นมาเรื่อย ๆ ให้กลายเป็นอาหารชนิดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่แค่เครื่องดื่มมาจนถึงปัจจุบัน หลังจากนั้นในช่วง ปี ค.ศ. 1765 ในยุโรปและอเมริกาก็ได้เกิดโรงงานผลิตช็อกโกแลตจากเมล็ดคาเคาขึ้นหลายแห่ง ต่างมุ่งพัฒนาและประยุกต์ผลผลิตจากเมล็ดคาเคาจนกลายเป็นช็อกโกแลตที่มาในรูปแบบอื่น ๆ เช่น นมช็อกโกแลต ช็อกโกแลตแบบแท่ง ฯลฯ จนมาถึงผลิตภัณฑ์จากช็อกโกแลตมากมายนับไม่ถ้วนในปัจจุบันนี้นี่เอง

          ว้าว... เคยแต่กินแต่ก็ไม่เคยรู้มาก่อนว่า เจ้าช็อกโกแลตที่เรากินกันเกือบ ๆ จะทุกวันเนี่ย เขาเคยเป็นถึงเครื่องราชบรรณาการที่ไม่ใช่ว่าใครก็จะกินได้นะเนี่ย ยิ่งใหญ่อลังการสุด ๆ ไปเลย ช็อกโกแลตจ๋า...



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ประวัติช็อกโกแลต ครั้งหนึ่งเคยเป็นสัญลักษณ์ของชนชั้นสูง อัปเดตล่าสุด 5 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 17:25:53 45,298 อ่าน
TOP