x close

ย้อนรอยอาหารไทย ต้นกำเนิดความจัดจ้านอันทรงเสน่ห์


 ย้อนรอยอาหารไทย ต้นกำเนิดความจัดจ้านอันทรงเสน่ห์

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          อาหารไทยเลื่องชื่อไปไกลถึงต่างประเทศได้ก็เพราะรสชาติที่จัดจ้าน ความกลมกล่อมในอาหารแต่ละจาน และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ในสมัยก่อนประเทศไทยได้เปิดรับการติดต่อคบค้าสมาคมจากชาวต่างชาติ ทำให้อาหารไทยเด็ด ๆ หลายจานถูกเล่าขานความอร่อยกันปากต่อปากจนแพร่หลายไปยังประเทศอื่น ๆ แต่การเปิดประเทศแบบนี้ก็ทำให้อาหารไทยได้รับอิทธิพลจากชาวต่างชาติเข้ามาบ้างเหมือนกัน คนไทยรุ่นหลังอย่างเราก็เลยได้ลิ้มรสอาหารไทยที่ผสมวัฒนธรรมอาหารของต่างชาติมาด้วย ถ้าจะให้แยกตอนนี้ว่าจานไหนเป็นอาหารไทยแท้ หรือจานไหนเป็นอาหารไทยผสมก็คงแยกกันไม่ค่อยออก ถ้าอย่างนั้นเรามาย้อนรอยดูประวัติของอาหารไทยแท้ ๆ กันก่อนดีกว่า

          อาหารไทยถือกำเนิดขึ้นมาพร้อมกับชนชาติไทย ซึ่งในสมัยนั้นอาหารไทยก็เป็นอาหารที่ทำขึ้นมาง่าย ๆ จากผัก จากปลาที่หามาได้ แต่ด้วยวิวัฒนาการที่เปลี่ยนไปของแต่ละยุค อาหารไทยก็ได้ถูกพัฒนาต่อยอดกันมาเรื่อย ๆ โดยได้มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ปรากฎไว้ว่า ชาวไทยเริ่มกินข้าวพร้อมกับข้าวเป็นอาหารหลักมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย และคำว่า ข้าวหม้อ แกงหม้อก็เกิดขึ้นในสมัยนี้เช่นกัน ซึ่งก็สามารถสรุปได้ว่า อาหารไทยประเภทแกงเกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้วนั่นเอง

          ต่อมาเมื่อถึงสมัยอยุธยา คนไทยก็ยังคงรับประทานข้าวพร้อมกับข้าวประเภทแกง และต้มเป็นอาหารหลัก แต่เริ่มเปลี่ยนจากการนำน้ำมันจากสัตว์มาปรุงอาหารเป็นการใช้น้ำมันพืช และน้ำมันมะพร้าวมากขึ้น รวมทั้งเริ่มมีกับข้าวประเภทน้ำพริก และผักจิ้มเกิดขึ้น นอกจากนี้ในประวัติศาสตร์ยังระบุไว้ด้วยว่า คนไทยในสมัยอยุธยาเริ่มรู้จักวิธีถนอมอาหารโดยการนำอาหารไปตากแห้งกันบ้างแล้ว อีกทั้งในสมัยนี้ก็ยังนิยมบริโภคสัตว์น้ำมากกว่าสัตว์บก และเริ่มมีผักสมุนไพรใส่ลงไปในกับข้าวมากขึ้น โดยสันนิษฐานกันว่า น่าจะใส่เพิ่มเข้าไปในอาหารเพื่อดับกลิ่นคาวของปลานั่นเอง หลังจากนั้นในสมัยพระนารายณ์มหาราช อาหารไทยก็เริ่มได้รับอิทธิพลจากประเทศโปรตุเกส ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และเปอร์เซียมากขึ้น ซึ่งในตอนแรก ๆ กระจายอยู่แค่ภายในพระราชวัง แต่หลัง ๆ มาก็เริ่มแพร่หลายมาถึงประชนชาวไทยทั่วทุกหัวระแหงจนแนบเนียนไปกับอาหารไทยแท้ ๆ ในที่สุด

 ย้อนรอยอาหารไทย ต้นกำเนิดความจัดจ้านอันทรงเสน่ห์

          มาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ในยุคแรก ๆ อิทธิพลจากประเทศจีนก็เข้ามามีบทบาทในอาหารไทยมากขึ้น ที่เห็นได้ชัด ๆ ก็คงจะเป็นการรับประทานเนื้อหมู และกับข้าวประเภทผัด ที่สมัยก่อนคนไทยนั้นไม่นิยมบริโภคมาก่อน เพราะเน้นอาหารจำพวกปลา และผักที่นำไปต้ม หรือแกงมากกว่า อีกทั้งในยุคนั้นก็ยังมีวัฒนธรรมการรับประทานอาหารว่างเพิ่มขึ้นมาอีกอย่างหนึ่งด้วย

          จากหลักฐานที่อ้างถึงช่วงที่อาหารไทยรุ่งเรืองมากที่สุดก็คือ ช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 มีสูตรอาหารเกิดขึ้นเบื้องหลังกำแพงแดง หรือวังสุนันทามากมาย แต่อาหารไทยก็ได้รับอิทธิพลจากชาติตะวันตกมากที่สุดในช่วงนั้นเช่นกัน เนื่องมาจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จเยือนประเทศสิงคโปร์ และได้นำวัฒนธรรมการรับประทานอาหารเช้าแบบตะวันตกเข้ามาเผยแผ่ในพระบรมหาราชวังมากขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังคงรักษาความปราณีตในการจัดจานอาหาร เช่น การแกะสลักผักและผลไม้ รวมทั้งการจัดจานแบบชาววังเอาไว้อยู่ นอกจากนี้ในสมัยนั้นก็เริ่มมีการตีพิมพ์สูตรอาหารไว้เป็นหลักฐานกันบ้างแล้ว

          อย่างไรก็ตาม อาหารไทยแท้ ๆ จากต้นตำรับก็ไม่ได้ถ่ายทอดตามสูตรดั้งเดิมกันแบบเป๊ะ ๆ เพราะมีการดัดแปลงสูตรกันตามแต่ยุคสมัย เพื่อให้รสชาติถูกปากคนไทนในสมัยปัจจุบันกันมากขึ้น และความปราณีตสวยงามในอาหารไทยก็เริ่มลบเลือนลงทุกที จะหาอาหารไทยแท้ ๆ แบบฉบับชาววังที่จัดเสิร์ฟอย่างสวยงามชดช้อยก็ยากแล้ว

          แต่ปัจจุบันนี้ก็ยังสามารถหาอาหารไทยแท้ ๆ รับประทานได้อยู่ เช่น น้ำพริกลงเรือ น้ำพริกกะปิ ข้าวแช่ ต้มโคล้งแกงป่า หลน แกงรัญจวน ลอดช่อง ขนมเปียกปูน และขนมตะโก้ เป็นต้น ส่วนอาหารที่มีเครื่องเทศต่าง ๆ นั้นได้รับอิทธิพลมาจากประเทศอินเดีย ส่วนต้มจืดก็เป็นของชาวจีน อีกทั้งขนมหวานที่มีไข่เป็นส่วนผสมก็ได้รับอิทธิพลมาจากประเทศโปรตุเกสนั่นเองค่ะ






ขอบคุณข้อมูลจาก
wordpress.com, sunandhanews และ isaansmile
 



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ย้อนรอยอาหารไทย ต้นกำเนิดความจัดจ้านอันทรงเสน่ห์ อัปเดตล่าสุด 7 พฤศจิกายน 2556 เวลา 10:42:58 13,609 อ่าน
TOP