x close

ข้าวต้มมัด ขนมของคนมีคู่ประจำวันเข้าพรรษา

ข้าวต้มมัด ขนมของคนมีคู่ประจำวันเข้าพรรษา

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          ประเพณีของไทยหลาย ๆ อย่าง มักจะมีเรื่องราวของอาหารเข้าไป ข้องเกี่ยวอยู่ด้วยเสมอ เพราะคนไทยโบราณจะชอบทำอาหาร หรือขนมไทยชนิดต่าง ๆ ไปทำบุญถวายพระ แตกต่างกันไปตามความเชื่อ จนทำให้เกิดเป็นเอกลักษณ์ที่ขาดกันไปไม่ได้แล้ว และก็สืบทอดมาจนถึงัจจุบัน เช่นเดียวกับ ข้าวต้มมัดกับวันเข้าพรรษา ที่เรากำลังจะพูดถึงต่อไปนี้ด้วย

          เกิดเป็นคนไทยจะมีใครที่ไม่รู้จักข้าวต้มมัด หรือข้าวต้มผัด บ้างไหมเนี่ย ไม่ว่าจะไปอยู่มุมไหนของประเทศไทยก็มีขาย หาซื้อกินได้ง่ายเหลือเกิน โดยเฉพาะในช่วงวันเข้าพรรษา เราจะได้เห็นข้าวต้มมัดวางขายกันให้เกลื่อนเลยล่ะ เพราะคนไทยยกให้ข้าวต้มมัด หรือข้าวต้มผัด เป็นขนมประจำวันเข้าพรรษานั่นเอง

 เพราะอะไร ข้าวต้มมัดถึงเป็นขนมประจำวันเข้าพรรษา

          ในสมัยก่อน คนโบราณยกให้ข้าวต้มมัดเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของคนมีคู่ เพราะมีลักษณะการจับขนม 2 ชิ้น มามัดเข้าไว้ด้วยกันนั่นเอง และมีความเชื่อว่า ถ้าหนุ่มสาวคู่ไหนทำบุญวันเข้าพรรษาด้วยข้าวต้มมัด ความรักมักจะดี ชีวิตคู่ครองจะคงอยู่นานตลอดกาล เหมือนกับข้าวต้มมัดที่ผูกกันติดหนึบนั่นเอง คนโบราณผู้มีคู่ก็เลยนิยมทำข้าวต้มมัดไปถวายพระในวันเข้าพรรษานั่นเอง โอ้โห !

 ตำนานข้าวต้มมัด ขนมแห่งความรักของพระอินทร์

          อีกหนึ่งตำนานที่เล่าต่อ ๆ กันมาว่า ข้าวต้มมัด เป็นข้าวต้มที่พระอินทร์กับนางสนมกินด้วยกันเมื่อตอนมีความรักให้กัน แต่ต่อมาพระอินทร์เกิดจับได้ว่าานางสนมมีชู้ จึงโกรธและดลบันดาลให้ลูกของนางสนมที่เกิดกับชู้ คลอดออกมาเป็นข้าวต้มมัด เมื่อถึงเวลาที่นางสนมคลอดบุตรอกมา ก็กลายเป็นข้าวต้มมัดจริง ๆ นางสนมก็เกิดความรังเกียจเดียดฉันท์ลูกแท้ ๆ ของตัวเอง เลยนำลงมาทิ้งไว้ที่ป่าในโลกมนุษย์ ตา-ยายคู่หนึ่งเดินเข้ามาในป่าก็มาเจอข้าวต้มมัดที่นางสนมมาทิ้งไว้ ลองแกะกินดูแล้วว่าอร่อย ก็เลยลองทำตามดู แล้วก็นำมาขายจนเป็นที่แพร่หลายมาจนถึงทุกวันนี้นี่เอง

          พอได้รู้ถึงเรื่องราวของข้าวต้มมัดกับวันเข้าพรรษไปแล้ว เราก็มาทำความรู้จักขนมชนิดนี้กันให้ลึกกว่าที่เคยรู้กันหน่อยดีกว่า

          ข้าวต้มมัด หรือข้าวต้มผัด เป็นการนำข้าวเหนียวไปผัด หรือกวนกับน้ำกะทิ จากนั้นก็ห่อด้วยใบตองหรือใบมะพร้าวอ่อน สอดไส้กล้วยลงไปด้วย แล้วนำไปนึ่งให้สุก ข้าวต้มมัดมีชื่อเรียกหลากหลายมาก เช่น

           "ข้าวต้มมัดไต้" หรือ ขนมมัดไต้ ข้าวต้มมัดใต้ ฯลฯ เป็นชื่อเรียกข้าวต้มมัดของคนภาคใต้ มีเอกลักษณ์โดดเด่นก็คือ การนำข้าวเหนียวไปห่อแล้วมัดให้มีลักษณะเหมือนไต้ที่ใช้จุดไฟ มัดเป็นปล้อง ๆ 4-5 ปล้อง ซึ่งมีขนาดยาวกว่าข้าวต้มมัดทั่วไป ไม่มีไส้ มีรสชาติเค็มที่ทำมาจากส่วน ผสมถั่วทองโขลกกับเครื่อง เช่น รากผักชี กระเทียม และพริกไทย แถมยังใส่หมูและมันหมูลงไปด้วย และยังแยกออกไปอีกด้วยว่า ถ้าห่อด้วยใบกะพ้อ เรียก "ห่อต้ม" แต่ถ้าห่อด้วยใบมะพร้าวและมัดด้วยเชือกเรียกว่า "ห่อมัด"

           "ข้าวต้มกล้วย" เป็นชื่อเรียกข้าวต้มมัดของคนภาคอีสาน มี 2 แบบด้วยกันคือ ใช้ข้าวเหนียวดิบปรุงรสด้วยเกลือ ใส่ถั่วลิสงต้มสุก เคล้าให้เข้ากัน นำไปห่อเป็นมัด ใส่ไส้กล้วย แล้วเอาไปต้มให้สุก ส่วนแบบที่ 2 คือ แบบผัด จะผัดข้าวเหนียวกับกะทิ นำไปห่อใส่ไส้กล้วยแล้วต้มให้สุก จะไม่ใส่น้ำตาลลงไปในส่วนผสม แต่จะใช้วิธีนำมาจิ้มกินกับน้ำตาลแทน

           "ข้าวต้มหัวหงอก" หรือข้าวต้มมัดของคนภาคเหนือ จะนำข้าวต้มมัดที่สุกแล้วมาหั่นเป็นชิ้น ๆ คลุกกับมะพร้าวขูด แล้วโรยน้ำตาลทราย

           "ข้าวต้มญวน" มีลักษณะคล้ายข้าวต้มมัด แต่ห่อให้ใหญ่กว่า นำไปต้ม เวลากินให้หั่นเป็นชิ้น ๆ คลุกกับมะพร้าวขูด เกลือและน้ำตาลทราย

          นอกจากนั้นเราอาจจะพบเห็นขนมที่มีรูปร่างหน้าตาคล้าย ๆ ข้าวต้มมัดแบบนี้ได้ที่ต่างประเทศอีกด้วย อย่างในประเทศฟิลิปปินส์ เรียกขนมชนิดนี้ว่า "อีบอส" หรือ "ซูมัน" ซึ่งจะเรียกต่างกันไปตามส่วนผสมที่นำมาทำ ส่วนในประเทศลาว ก็มีข้าวต้มมัดเช่นเดียวกันกับเรา แต่เรียกว่า "เข้าต้ม" มีทั้งแบบไส้เค็มที่ใส่มันหมูกับถั่วเขียว และแบบไส้หวานที่ใส่ไส้กล้วยเหมือนข้าวต้มมัดทั่วไปนั่นเอง

 ข้าวต้มมัดทำไมต้องไส้กล้วยน้ำว้า

             กล้วยบนโลกนี้มีมากมายหลายชนิด แต่มีใครเคยสงสัยหรือไม่ว่า ทำไมข้าวต้มมัดถึงใช้เฉพาะกล้วยน้ำว้า นั่นก็เพราะว่า คนโบราณใช้ภูมิปัญญาอันหลักแหลม ในการทดลอง ใช้กล้วยอยู่หลายชนิด แต่ผลปรากฎออกมาว่า ต้องกล้วยน้ำว้าเท่านั้น เพราะเป็นกล้วยที่สุกยาก เมื่อนำมานึ่งกับข้าวเหนียวแล้วจะสุกพร้อมกันนั่นเอง แหม่ ไม่ธรรมดาจริง ๆ

             แต่ไม่ใช่แค่วันเข้าพรรษาอย่างเดียวนะคะ ข้าวต้มมัดก็ยังสามารถนำมาทำบุญในวันออกพรรษาก็ได้เช่นเดียวกัน หรือที่เรียกว่า "ข้าวต้มลูกโยน" ที่เรามักจะได้ยินเมื่อถึงวันออกพรรษา มีชื่อเรียกหลายอย่างไม่แพ้ข้าวต้มมัดเลย ทั้งข้าวต้มโยน ข้าวต้มหาง ข้าวต้มลูกโยนซึ่งเป็นอีกหนึ่งผล ผลิตจากข้าวต้มมัด มาจากข้าวเหนียวที่เหลือ ๆ ตอนทำข้าวต้มมัด แต่ไม่มีไส้ มีแต่ข้าวเหนียวอย่างเดียว หรืออาจจะเป็นข้าวเหนียวผสมถั่วดำ แล้วนำไปห่อให้เป็นทรงรีด้วยใบ กะพ้อ หรือใบมะพร้าวให้สวยงาม แต่ไฮไลท์อยู่ที่หางยาว ๆ ที่ใช้ตอกหรือไม้ไผ่เหลาบาง ๆ มัดให้เป็นหาง ผูกเข้าด้วยกันเป็นพวง ๆ แล้วนำไปนึ่ง หรือต้มจนสุกนั่นเอง

             อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ใครเกิดอยากลองทำข้าวต้มมัดกินเอง วันนี้เราก็มีสูตรมาฝากด้วย เป็นข้าวต้มมัดไส้กล้วย มาให้ลองทำกันดูค่ะ

หมายเหตุ : ข้าวต้มมัด 1 มัด ให้พลังงานประมาณ 225 กิโลแคลอรี่

  ข้าวต้มมัด

สิ่งที่ต้องเตรียม

           ข้าวเหนียวขาว 500 กรัม

           มะพร้าวขูด 500 กรัม

           น้ำสำหรับคั้นกะทิ 3 ถ้วย

           น้ำตาลทราย 1/2 ถ้วย

           เกลือป่น 1 ช้อนโต๊ะ

           กล้วยน้ำว้าสุก ปอกเปลือกผ่าครึ่ง 10 ลูก

           ถั่วดำต้มสุก 1 ถ้วย

           ใบตองสำหรับห่อขนม

วิธีทำ

          1. ซาวข้าวเหนียวให้สะอาด ตักขึ้นสะเด็ดน้ำ เตรียมไว้

          2. คั้นมะพร้าวกับน้ำให้ได้น้ำกะทิ เตรียมไว้

          3. ผสมน้ำกะทิ (2 ถ้วย) กับน้ำตาลทราย และเกลือป่นเข้าด้วยกัน คนผสมจนน้ำตาลทรายละลาย กรองเอาเฉพาะน้ำกะทิ เตรียมไว้

          4. เทส่วนผสมกะทิใส่หม้อ นำขึ้นตั้งไฟอ่อน ใส่ข้าวเหนียว กวนผสมจนเข้ากัน และส่วนผสมทั้งหมดเริ่มแห้ง ยกลงจากเตา เตรียมไว้

          5. เช็ดใบตองให้สะอาด ตักส่วนผสมข้าวเหนียวใส่ ตามด้วยกล้วย และถั่วดำ ห่อขนมให้สวยงาม จากนั้นนำไปนึ่งนานประมาณ 40 นาที นำออกจากชุดนึ่ง พักทิ้งไว้ พร้อมรับประทาน

             ถือว่าเป็นขนมไทยอีกหนึ่งอย่างที่มีประวัติความเป็นมาไม่ธรรมดาเลยทีเดียว รู้อย่างนี้แล้ว คนมีคู่ก็อย่าลืมซื้อข้าวต้มมัดไปทำบุญวันเข้าพรรษานี้กันด้วยนะจ๊ะ ความรักจะได้ยั่งยืนมัดติดกันไปเนิ่นนาน พูดแล้วก็อิจฉา !
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
wikipedia, vidview-loveyoumaylady


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ข้าวต้มมัด ขนมของคนมีคู่ประจำวันเข้าพรรษา อัปเดตล่าสุด 9 กรกฎาคม 2557 เวลา 16:27:21 57,820 อ่าน
TOP