เดือนรอมฎอน หรือเดือนถือศีลอด ถือเป็นเดือนอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิม ที่นอกจากจะเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเคร่งครัดและความอดทนในการถือศีลอด เพื่อชำระล้างร่างกายและจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ของชาวมุสลิมแล้ว เดือนรอมฎอนนี้เองยังสะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมการรับประทานอาหารของชาวมุสลิมที่สืบทอดกันมา และมีอาหารอันเป็นเอกลักษณ์ ที่ชาวมุสลิมจะรับประทานกันในช่วงนี้เท่านั้นอีกด้วย
หลังจากที่ชาวมุสลิมถือศีลอดกันมาตลอดทั้งวั้น ทุกคนก็จะรอให้ถึงช่วงเวลาแก้บวช เพื่อเตรียมรับประทานอาหารกันพร้อมหน้าพร้อมตาในครอบครัว นอกจากจะมีอาหารคาวอร่อย ๆ เช่น โรตีมะตะบะ หรือแกงต่าง ๆ แล้ว ชาวมุสลิมยังให้ความสำคัญกับอาหารหวานอีกด้วย เพราะเชื่อว่า ขนมหวาน จะช่วยให้ร่างกายที่อ่อนเพลียจากการขาดอาหารมาทั้งวัน รู้สึกกระปรี้กระเปร่า และมีเรี่ยวแรงเพิ่มขึ้นนั่นเอง
ส่วนขนมที่นิยมรับประทานกันในช่วงรอมฎอน เช่น "ขนมบดิน" เป็นขนมเค้กเนยตำรับเฉพาะชาวมุสลิม ที่จะหอมกว่าเค้กเนยทั่วไป มีเนื้อนุ่ม ๆ กลิ่นหอมเนย โดยทั่วไปจะใช้แป้งผสมกับนมข้นหวาน น้ำตาลทราย เนย และไข่ไก่ ตีผสมให้เข้ากันแล้วนำไปอบจนสุก "ขนมซูยี" หน้าตาคล้าย ๆ กับมูสลี่ของฝรั่ง จะมีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ รสชาติหวานมัน "ขนมบูงอ" ขนมทอดเนื้อเหนียว ๆ โดยการนำแป้งข้าวเหนียวผสมกับมันเทศ ปั้นเป็นก้อน ๆ กดให้แบนแล้วก็นำไปชุบไข่ทอดจนเหลือง จิ้มกินกับน้ำตาลเหลว "ขนมซัมบูซะ" คล้าย ๆ กับปอเปี๊ยะทอด แต่จะพับให้เป็นรูปทรงสามเหลี่ยม หรือ "อินทผาลัม" ก็ถือเป็นขนมหวานด้วยเช่นกัน แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับมัสยิดในแต่ละพื้นที่ ที่อาจจะมีขนมชนิดอื่น ๆ เพิ่มเข้ามาอีกด้วย
โดยเฉพาะในวันสุดท้ายที่เป็นวันสิ้นสุดของการถือศีลอด หรือวันอีดิลฟิตรี ชาวมุสลิมจะเดินทางไปมัสยิดหรือสุเหร่ากันแต่เช้า เพื่อทำการละหมาด แล้วจะมีการเยี่ยมเยียนพบปะกันระหว่างญาติมิตร ก็มักจะนำขนมตำรับมุสลิมเหล่านี้ไปทำบุญกันด้วย เพื่อแลกเปลี่ยนกันรับประทานในหมู่ญาติและเพื่อนฝูงนั่นเอง