เขียงถือเป็นอุปกรณ์คู่ครัวที่มีความสำคัญต่อการทำอาหารอยู่ไม่น้อย แต่น้อยคนนักที่เข้าใจและรู้วิธีการใช้อุปกรณ์ชนิดนี้อย่างลึกซึ้ง ตั้งแต่ขั้นตอนการเลือกเขียงมาใช้ให้เหมาะสมกับลักษณะการทำอาหารของตัวเอง ดังนั้นในวันนี้เราก็เลยขอนำเคล็ดลับการเลือกเขียงมาฝากกัน เพื่อให้ทุกคนมีเขียงที่ตรงกับความต้องการ พร้อมกับใช้เขียงให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ชนิดของเขียง
วัสดุทำเขียงแบ่งออกเป็น 3 ชนิดหลักก็คือ ไม้ พลาสติก แก้วหรือหิน โดยเขียงไม้กับเขียงพลาสติกเป็นชนิดเขียงที่นิยมนำมาใช้มากที่สุด ทั้งนี้ก่อนจะตัดสินใจซื้อควรพิจารณาถึงเรื่องการบำรุงรักษาเสียก่อน อย่างเช่น เขียงไม้อาจจะใช้เวลาทำความสะอาดนานกว่าเขียงพลาสติก และอาจเสียรูปทรงได้ง่ายกว่า แต่ในขณะเดียวกันเขียงไม้ก็ค่อนข้างหนักทำให้การทำอาหารของคุณง่ายดายกว่าเขียงพลาสติกที่อาจจะเลื่อนไปเลื่อนมาขณะใช้ก็ได้
ถึงแม้หลายคนจะมีความเชื่อว่า เขียงพลาสติกนั้นสะอาดและมีเหล่าแบคทีเรียสะสมตัวอยู่น้อยกว่าเขียงไม้ แต่ก็มีการศึกษาหลายแขนงพบว่า ความสะอาดของเขียงไม่ได้ขึ้นอยู่กับการใช้วัสดุ แต่ขึ้นอยู่กับการทำความสะอาดของผู้ใช้ว่ามีการล้างเขียงด้วยน้ำร้อนหรือน้ำสบู่ หลังการใช้บ้างหรือไม่
การเลือกซื้อเขียงไม้
สำหรับคนที่เลือกเขียงไม้ควรเลือกเขียงที่ทำจากไม้มะขาม เนื่องจากไม้มะขามเป็นไม้ที่มีความแข็งแรง เหนียว ทนทาน และไม่สร้างกลิ่นเหม็นให้กับอาหาร หลังจากนั้นให้เลือกเขียงที่มีแกนกลางใหญ่ ไม่มีตาไม้ ผิวหน้าของเขียงราบเรียบเสมอกันทุกส่วน เนื่องจากเขียงที่มีรอยร้าว หลุมยุบ หรือมีตาไม้อาจกลายเป็นที่อยู่ของแบคทีเรียกับเชื้อโรคในเวลาต่อมาได้
ขนาด ดีไซน์ และสีสัน
เขียงในปัจจุบันมีขนาด ดีไซน์ และสีสันให้เลือกมากมาย เวลาเลือกซื้อให้พิจารณาจากความเหมาะสมกับลักษณะของห้องครัว กิจวัตรประจำวัน และการตกแต่งของห้องครัว ถ้าหากคุณมีพื้นที่ในห้องครัวค่อนข้างมาก อาจจะเลือกเขียงขนาดใหญ่ที่สามารถเอาไปตั้งไว้บนเคาน์เตอร์เลยก็ได้ ในกรณีที่มีพื้นที่ในห้องครัวน้อยก็เปลี่ยนมาใช้เขียงขนาดเล็กที่สามารถเคลื่อนย้าย หรือสามารถแขวนได้
สำหรับดีไซน์หรือสีสันก็ขึ้นอยู่กับความชอบส่วนตัวของคุณ ทั้งนี้อาจจะเลือกสีหรือดีไซน์ที่แตกต่างกันเพื่อให้ง่ายต่อการ แบ่งแยกในการใช้งานก็ได้ อย่างเช่น ใช้สีแดง หรือเขียงที่มีรูปสัตว์ สำหรับหั่นเนื้อสด หรือใช้เขียงสีเขียว หรือเขียงที่มีรูปผลไม้สำหรับหั่นผัก ผลไม้ รวมไปถึงอาหารที่ผ่านการปรุงสุกแล้วก็ได้
ใช้เขียงอย่างไรให้ปลอดภัย
หากสามารถทำได้ควรจะแยกเขียงสำหรับหั่นผัก และเนื้อสัตว์ออกจากกัน และหมั่นล้างเขียงหลังการใช้งานทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเขียงไม้หรือเขียงพลาสติก พร้อมกับควรตรวจสอบให้แน่ใจเสียก่อนว่า เขียงของคุณแห้งสนิทพร้อมนำไปเก็บแล้วจริง ๆ มิเช่นนั้นความชื้นก็นำเชื้อรามา สู่ครัว และอาหารของคุณ ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ ควรเปลี่ยนเขียงใหม่ทันที หากพบว่า เขียงมีรอยแตกร้าว หลุมยุบ ร่องลึกที่ทำความสะอาดได้ยากหรือไม่สามารถทำความสะอาดได้เลย เพื่อความสะอาดของอาหาร และความปลอดภัยในสุขภาพนั่นเองค่ะ
หวังว่าทั้ง 4 เคล็ดลับดี ๆ ที่เรานำมาฝากกันในวันนี้ จะช่วยให้คุณสามารถพิจารณาพร้อมกับตัดสินใจเลือกเขียงที่จะนำมาใช้งานได้อย่างเหมาะสมกับตัวคุณหรือสมาชิกในครอบครัวได้ง่ายดาย และตรงกับการใช้งานของคุณมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เขียงอยู่คู่ครัวของคุณไปได้ตราบนานเท่านาน