ต่อไปนี้คงขอบายเมนูห่อหมกปลา ที่ขายทั่วไป เพราะเนื้อเนียนมากจนหาเนื้อปลาไม่เจอ แถมเน้นรสเค็มจัดกลัวโรคไตถามหา กระปุกดอทคอมขอนำเสนอวิธีทำห่อหมกปลา สูตรจาก คุณมอแกนน้อย สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม ใส่เนื้อปลาหั่นชิ้นผสมกับเครื่องแกง กวนจนเนื้อเนียนเหนียวหยอดใส่กระทง พอสุกแต่งหน้าด้วยหัวกะทิ ใบมะกรูดและพริกชี้ฟ้า
ปลาที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นปลาทะเล เช่น ปลามงหรือปลาสาก เพราะเป็นปลาเนื้อขาว นึ่งออกมาแล้วสวยน่ากิน ห่อหมกทางภูเก็ต ตัก 2 คำก็หมดห่อ เพราะทำห่อเล็ก นึ่งสุกใหม่ ๆ จะหอมกลิ่นห่อหมกแท้ ๆ เปิดห่อออกมา กลิ่นใบชะพลูโชย นับว่าเป็นห่อหมกที่เชิดหน้าชูตาให้กับภูเก็ต ไม่แพ้อาหารที่ดัง ๆ ในจังหวัดเลย
ครั้งหนึ่งเคยไปรับรองลูกค้าที่โรงแรมดังแถวแหลมพันวา และได้สัมผัสกับห่อหมกที่ทางโรงแรมจัดตามที่ลูกค้าขอ เป็นอาหารเช้า ข้าวสวยกับห่อหมกที่อร่อยสำหรับคนทะเลเช่นตะโกอย่างแท้จริง พร้อมกันแล้วก็ตามตะโกน้อยเข้าครัวเลยครับ
ส่วนผสม ห่อหมกปลา
• ปลาสากเหลือง
• ปลามงแซ่
• น้ำพริกแกง
• กะทิ (แยกหัวกะทิและหางกะทิ)
• ไข่ไก่ 2 ฟอง
• เกลือ
• น้ำตาลทราย
• ผงปรุงรส (รสดี)
• แป้งมันสำปะหลัง แป้งสาลี หรือแป้งข้าวโพด 1/2 ช้อนโต๊ะ
• ใบมะกรูดซอย
• พริกชี้ฟ้าซอย
• ผักซอยตามชอบ
วิธีทำห่อหมกปลา
• จุดเริ่มต้นของห่อหมกต้องเตรียมปลาก่อนครับ วันนี้ใช้เนื้อปลาสากเหลืองกับปลามงแซ่ เนื้อปลาสากจะช่วยให้ห่อหมกมีเนื้อฟูและออกเหนียวข้น
• เนื้อปลาสากแล่เอาแต่เนื้อ แล้วหั่นชิ้นพอคำ ช่วงที่มีกระดูกก็หั่นชิ้นใหญ่ ส่วนปลามงก็สับชิ้นใหญ่ติดกระดูกรอไว้เลย
• ใบตองตัดมาแล้วตากแดดจัดสักพัก ใบจะอ่อนไม่แตก หรือจะนำไปอังไฟ หรือตัดวงกลมแล้วนึ่งเพื่อให้อ่อนตัว ใบตองจะไม่แตกเวลาทำกระทงครับ
• เคล็ดลับ : ห่อหมกจะอร่อยและมีรสสัมผัสที่ดีขึ้นอยู่กับการกวนนี่แหละครับ กวนเพื่อให้ส่วนผสมเข้ากันจนเหนียว เนื้อปลาชิ้นเล็ก ๆ จะรวมกับเครื่องแกงจนเหนียวข้น จะต้องใช้เวลากวนนานร่วม 1 ชั่วโมงเศษ ๆ ด้วยไม้พาย หากมีเครื่องทุ่นแรงเช่น ตะกร้อมือสามารถใช้ได้เลยนะครับ จะได้ไม่เมื่อยมือ การกวนด้วยไม้พายที่ต้องกวนในทิศทางเดียวกันนั้น เพื่อให้เนื้อห่อหมกเนียนสวย หากกวนสลับไปมาคนละทิศทาง จะทำให้เนื้อห่อหมกมีฟองอากาศ กินไม่อร่อย
• กวนต่ออีกราวครึ่งชั่วโมง แล้วปรุงรสด้วยเกลือ น้ำตาลทราย และผงปรุงรส การไม่ใช้น้ำปลาจะดีกว่าครับ เพราะจะไม่มีกลิ่นคาวน้ำปลา และช่วยให้ห่อหมกเหนียวขึ้น ไม่มีการใช้แป้งผสมในสูตรห่อหมกแท้ ๆ นะครับ เพราะการใส่แป้งคือการลดต้นทุนของห่อหมก เราต้องการความเหนียวจากเจลาตินในเนื้อปลา ไม่ใช่จากแป้งครับ
• เอาหัวกะทิเพื่อเติมหน้าไปกวนให้ร้อน ใส่แป้งอะไรก็ได้ แป้งมันสำปะหลัง แป้งสาลี หรือแป้งข้าวโพด ก็จะได้ความข้นไว้ราดหน้า
• ห่อหมกนึ่งเสร็จใหม่ ๆ กินตอนร้อนไอขึ้นจะอร่อยกว่าเย็นแล้ว สังเกตเนื้อห่อหมกจะไม่มีฟองอากาศ เพราะหากมีฟองอากาศเวลากินจะเหมือนสปองกี้ ทำให้เสียรสสัมผัส
• เนื้อปลาชั้นล่างยังมีความชุ่มชื้น ไม่แห้งแข็งกระด้าง หากใช้เวลานึ่งนานเกินไป
• ชิมเปล่า ๆ ไปครึ่งกระทง ต้องมองหาหม้อข้าว
• ตักห่อหมกเอากระทงออก เนื้อห่อหมกเข้ารูปทรง ไม่เละ ไม่แห้งแข็งกระด้าง กลิ่นเครื่องแกงโชยจมูก ไอความร้อนพาให้กลิ่นต่าง ๆ ได้สัมผัส เนื้อห่อหมกเนียน มีสาก ๆ เครื่องแกงนิดหน่อยเหมือนดื่มไวน์ฟูลบอดี้ ความมันจากกะทิผสานกับเครื่องแกงหอม ๆ ได้รสเค็มอ่อน ๆ หวานจาง ๆ แบบครบรส เนื้อปลาขาวนุ่ม ชุ่มหวานธรรมชาติของความสด ผักต่าง ๆ ส่งกลิ่นตามชนิด และช่วยตัดเลี่ยน
• ห่อไปมาเนื้อปลาหมด ต้องพึ่งกุ้งของตะโกน้อยสักสามสี่กระทง ก็จะได้ความอร่อยไปอีกแบบหนึ่ง เนื้อกุ้งเด้ง ๆ กรอบ ๆ ในปาก ยิ่งเคี้ยวพร้อมเนื้อห่อหมกก็ยิ่งอร่อย
ลองทำเลยดีไหมกับห่อหมกปลา ใครจะทำด้วยปลาอื่น ๆ ก็ได้นะคะ เช่น ห่อหมกปลาช่อน ห่อหมกปลานิล ห่อหมกปลากราย ห่อหมกปลาดุก เชื่อเถอะแค่กระทงเดียวก็ฟินแล้ว
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
คุณมอแกนน้อย สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม