ประวัติ ขนมเข่ง ขนมเทียน ขนมมงคลสัญลักษณ์วันตรุษจีน


ขนมเทียน ขนมเข่ง


           เทศกาลวันขึ้นปีใหม่ของสากลก็ได้ผ่านพ้นไปแล้ว แต่ไม่ได้รวมถึงวันขึ้นปีใหม่ของทุกชนชาติอื่น ๆ นะคะ อย่างของไทยเราก็จะเป็นช่วงเดือนเมษายนของทุกปี และส่วนของจีนก็จะเป็นวันตรุษจีน ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558 นี้เอง

           และพอพูดถึงวันตรุษจีน สิ่งที่หลายคนนึกถึงเป็นอันดับแรก ๆ ก็คงจะเป็น "ขนมเข่ง ขนมเทียน" ที่จะมีขายตามท้องตลาดมากมายในช่วงเทศกาลนี้เท่านั้น และเนื่องในโอกาสที่ใกล้จะถึงวันตรุษจีนนี้ กระปุกดอทคอมก็เลยอยากจะนำเสนอประวัติความเป็นมาของขนมเข่งและขนมเทียนกันสักหน่อย ซึ่งถือว่าเป็นสัญลักษณ์หนึ่งในวันตรุษจีนให้ทุกคนได้เก็บไว้เป็นความรู้รอบตัวกันค่ะ

           ความเป็นมาของขนมเข่งที่เป็นที่ร่ำลือก็คือ ในยุคประวัติศาสตร์ของชาวจีนมีความเชื่อว่า บรรดาเทพเจ้าจีนที่คอยปกปักรักษามนุษย์ในโลก จะต้องขึ้นไปถวายรายงานความดีความชอบ และความชั่วที่มนุษย์ทุกคนได้กระทำกับองค์เง็กเซียนฮ่องเต้บนสวรรค์ ก่อนที่จะถึงวันตรุษจีนประมาณ 4 วัน เหล่าบรรดาคนที่รู้ว่าตนเองไม่ได้ทำความดีกับเขาสักเท่าไร จึงคิดทำขนมเข่ง หรือที่ชาวจีนแต้จิ๋วเรียกว่า ขนมเหนียนเกา (แปลว่าขนมที่ทำมาจากแป้ง) โดยใช้แป้งข้าวเหนียวมากวนกับน้ำตาลทราย และนำไปนึ่งจนมีลักษณะเป็นก้อนแป้งแข็ง ๆ และเหนียวหนืด จากนั้นก็นำขนมเข่งเหล่านี้ไปถวายให้บรรดาเทพเจ้าจีน เพื่อหวังให้ขนมแป้งเหนียว ๆ ช่วยปิดปากเทพเจ้าทั้งหลาย จนกล่าวรายงานความชั่วของตัวเองให้องค์เง็กเซียนฮ่องเต้ฟังไม่ได้ และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เจ้าขนมเข่งก็กลายเป็นขนมไหว้เจ้าของชาวจีนไปโดยปริยาย

            แต่อีกประวัติศาสตร์หนึ่งกลับแย้งขึ้นมาว่า ขนมเข่งมีความสำคัญในพิธีตรุษจีนก็เพราะสืบเนื่องมาจากในยุคประวัติศาสตร์ที่ชาวจีนหมดหนทางทำมาหากินในประเทศของตัวเอง จนต้องอพยพหนีความยากลำบาก มาทำมาหากินในประเทศไทย ชาวจีนเหล่านี้ต้องการเสบียงที่มีอายุเก็บรักษาได้นาน เอาไว้ประทังชีวิตระหว่างเดินทางโดยเรือสำเภา และขนมเข่งที่เป็นแป้งกวนกับน้ำตาล ก็ตอบโจทย์ความต้องการนี้ได้อย่างพอดิบพอดี เลยได้กลายมาเป็นอาหารสำคัญสำหรับชาวจีนในยุคแร้นแค้น ต้องอพยพหนีความยากลำบากนั่นเอง

           ดังนั้นในช่วงต่อมาที่ชาวจีนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และถึงวันไหว้เจ้า คนจีนเลยถือเอาขนมเข่งที่เคยเป็นเสบียงสำคัญในช่วงยากลำบาก มาเซ่นไหว้เทพเจ้า เพื่อเป็นที่ระลึกถึงวันที่ต้องปากกัดตีนถีบนั่นเอง อีกทั้งขนมเข่งยังมีความหมายสื่อถึงความหวานชื่น ราบรื่น และความอุดมสมบูรณ์อีกด้วย

           ส่วนขนมเทียนนั้น ก็ถือเป็นเป็นขนมไหว้เจ้าอีกชนิดหนึ่ง ก็มีต้นกำเนิดมาจากการดัดแปลงขนมเข่งเช่นกัน โดยใช้แป้งข้าวเหนียวมากวน และใส่ไส้ถั่วบด ผสมกับเครื่องปรุง กลายเป็นไส้เค็ม จากนั้นห่อด้วยใบตองเป็นรูปสามเหลี่ยมเล็ก ๆ คล้ายทรงเจดีย์ แล้วนำไปนึ่งจนสุก

           นอกจากชื่อขนมเทียนแล้ว บางคนก็นิยมเรียกว่า ขนมนมสาว และชาวภาคเหนือก็นิยมเรียกว่า ขนมจ็อกอีกด้วย ซึ่งโดยส่วนมากแล้วขนมเทียนจะนิยมใช้เป็นขนมในงานบุญวันสงกรานต์ และชาวจีนก็นำไปใช้ในงานวันตรุษจีนด้วยเช่นกัน

           จะเห็นได้ว่า ขนมไหว้เจ้าในวันตรุษจีนจะเป็นขนมที่ทำจากแป้งกวนกับน้ำตาล แล้วนำไปนึ่งเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งที่ต้องเป็นขนมแป้งนึ่งก็เนื่องจากว่า ทั้งขนมเทียนและขนมเข่ง ต่างก็มีความหมายเป็นมงคล สื่อถึงความหวานชื่น ความราบรื่น และความอุดมสมบูรณ์นั่นเองค่ะ


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ประวัติ ขนมเข่ง ขนมเทียน ขนมมงคลสัญลักษณ์วันตรุษจีน อัปเดตล่าสุด 3 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา 11:47:47 70,645 อ่าน
TOP
x close