x close

ขนมโมจิ ตำนานรักทหารญี่ปุ่นกับสาวบ้านนา


 ขนมโมจิ ตำนานรักทหารญี่ปุ่นกับสาวบ้านนา

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          ถ้าอยากกินขนมโมจิ ทุกคนคงรู้ว่าถ้าจะได้ของอร่อยก็คงต้องไปซื้อที่จังหวัดนครสวรรค์ หรือถึงแม้จะซื้อตามร้านค้าทั่วไปก็ยังรู้ว่าแหล่งที่มาของขนมลูกกลม ๆ หอมแสนอร่อยกล่องนี้ว่ามาจากจังหวัดนครสวรรค์อยู่ดี แต่เคยคิดกันไหมคะว่า ขนมสัญชาติญี่ปุ่นที่เราคุ้นเคยกันมานมนานนี้มาอยู่ในประเทศไทยได้อย่างไร และเจ้าตำรับของขนมโมจิเป็นใคร เอาเป็นว่าวันนี้เรามาทำความรู้จักขนมโมจิให้ลึกไปถึงต้นตอที่มาไปพร้อม ๆ กันเลยดีกว่า

          เดิมแล้วขนมโมจิหรือขนมที่ชาวญี่ปุ่นเรียกว่า วากาชิ (Wagashi) เป็นขนมหวานที่ชาวญี่ปุ่นทำกินและขายกันมายาวนานถึง 1,300 ปีมาแล้ว ซึ่งโดยปกติชาวญี่ปุ่นมักจะไม่ค่อยรับประทานขนมหวานกันสักเท่าไร แต่ขนมวากาชิจะถูกทำขึ้นในโอกาสพิเศษ เช่น พิธีชงชา หรืองานแต่งงานของญี่ปุ่นเท่านั้น

 ขนมโมจิ ตำนานรักทหารญี่ปุ่นกับสาวบ้านนา

          ขนมวากาชิ หรือขนมโมจิเข้ามาให้คนไทยได้รู้จักและได้ลิ้มลองเมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยสมัยนั้นกองทัพของญี่ปุ่นมาตั้งฐานทัพที่จังหวัดนครนายก และชาวบ้านในอำเภอใกล้เคียงก็พากันมาขายสินค้ากันถ้วนหน้า หนึ่งในนั้นก็เป็นสาวน้อยบ้านนาวัย 18 ปี ที่ขายขนมพื้นบ้าน เช่น ซาลาเปาทอด กล้วยทอดให้กับทหารญี่ปุ่น จนสาวน้อยพันนาได้รู้จักสนิทสนมกับแพทย์ทหารญี่ปุ่นนามว่า ซาโต้

          เมื่อสนิทกันได้สักพัก ซาโต้ก็ได้สอนพันนาทำขนมโมจิ ซึ่งลักษณะของขนมโมจิที่ทหารญี่ปุ่นสอนเป็นขนมที่ทำจากแป้งข้าวเหนียว มีใส้เป็นถั่วแดงกวน นำมาห่อกันแล้วนำไปต้มจนสุก หลังจากนั้นนำมาคลุกด้วยแป้งเพื่อป้องกันไม่ให้ขนมติดกัน รสชาติจะออกหวานนำนิดหน่อย สาวชาวบ้านก็ทำขนมโมจิให้ทหารหนุ่มชิม ปรากฏว่าซาโต้ประทับใจมากและบอกว่าเป็นขนมโมจิที่อร่อยที่สุดเท่าที่เขาเคยกินมาเลยทีเดียว อีกทั้งยังบอกกับพันนาว่า ให้ถือว่าขนมโมจิเป็นตัวแทนของเขา ถ้าคิดถึงเขาเมื่อไรให้เธอทำขนมโมจิกินเพื่อระลึกถึงเขาได้เสมอ

          หลังจากนั้นไม่นาน กองทัพญี่ปุ่นก็ย้ายฐานทัพไปอยู่ที่อื่น ปล่อยให้สาวพันนาทำขนมโมจิเฝ้ารอคนรัก เนิ่นนานเข้าก็ยังไร้วี่แววของซาโต้ พันนาก็เลยทำขนมโมจิขายให้ชาวบ้านได้กินกันถ้วนหน้า แต่จู่ ๆ วันหนึ่งก็มีทหารไทยมาสั่งห้ามไม่ให้ขาย ห้ามทำ และห้ามกินขนมโมจิอีกต่อไป เพราะเป็นขนมญี่ปุ่น จึงถือว่าเป็นขนมกบฏขัดต่อชาติ นับจากวันนั้นเป็นต้นมา ขนมโมจิก็ค่อย ๆ เลือนหายไป

          จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2547 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงทราบถึงประวัติขนมโมจิ และโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชบริพารคนสนิทไปสืบหาขนมโมจิต้นตำรับชาวไทยมาให้เสวย บรรดาทหารก็นำขนมโมจิจากที่ต่าง ๆ มาถวาย แต่ก็ไม่ถูกพระทัย ไม่ใช่ขนมโมจิสูตรที่ตามหาอยู่

          ต่อมาอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายกได้มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครนายก ได้ประชาสัมพันธ์และสืบหาจนได้ทราบจากนายมานพ ศรีอร่าม ข้าราชการพัฒนาชุมชนว่า ผู้ที่ทำขนมโมจิดังกล่าวคือ มารดาของตัวเอง ซึ่งตอนนี้มีอายุมากแล้ว แต่ก็ยังความจำดี สามารถเล่าเรื่องราวในครั้งอดีต และทำขนมโมจิถวายไหวอยู่ ซึ่งนางพันนาก็เต็มใจและยินดีอย่างยิ่งที่ได้ทำขนมโมจิด้วยตัวเองอีกครั้ง อีกทั้งยังเป็นการทำขนมโมจิถวายนางจึงปลื้มปิติเป็นล้นพ้น สมกับการรอคอยที่จะได้ทำขนมโมจิเพื่อระลึกถึงนายแพทย์ทหารซาโต้ที่ไม่ว่าจะนานเท่าไร สาวบ้านนาพันนาก็ยังไม่เคยลืม


          ปัจจุบันนางพันนาได้เสียชีวิตลงแล้ว และได้รับพระราชทานเพลิงศพเป็นการส่งท้าย และขนมโมจิก็ได้ถูกดัดแปลงปรับปรุงให้มีความหลากหลายมากขึ้น มีทั้งไส้ต่าง ๆ กลิ่น สีและรสให้เลือกมากมาย ที่ถึงแม้จะไม่ใช่สูตรต้นตำรับจริง ๆ จากญี่ปุ่น แต่ก็มีความคล้ายคลึงและอร่อยไม่แพ้กันค่ะ




ขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ขนมโมจิ ตำนานรักทหารญี่ปุ่นกับสาวบ้านนา อัปเดตล่าสุด 24 กันยายน 2556 เวลา 10:46:09 23,415 อ่าน
TOP