เผยเคล็ดลับการแกะสละ ปอกสละ และคว้านสละ ด้วยวิธีง่าย ๆ ไม่ให้หนามตำมือ พร้อมไขข้อสงสัย “สละ” กับ “ระกำ” ต่างกันอย่างไร ? สละ เป็นผลไม้ฤดูร้อนชนิดหนึ่ง มีเนื้อฉ่ำ รสหวานอมเปรี้ยว หลาย ๆ คนชอบกิน แต่ด้วยเปลือกที่มีหนามแหลมคม ทำให้หลายคนต้องโดนทิ่มแทงตามนิ้วมือ จนเข็ดและไม่ชอบที่จะซื้อมาปอกเอง แต่จะดีไหมถ้าเราสามารถปอกสละได้แบบง่าย ๆ และจะไม่โดนหนามตำมืออีกต่อไป วันนี้กระปุกดอทคอมมีวิธีการปอกสละ และคว้านสละง่าย ๆ ทำเองได้ที่บ้านมาฝากกัน พร้อมแล้วมาดูวิธีการปอกสละกันได้เลย หลังจากตัดสละเสร็จ หากนำมากินเลยสละจะยังมีรสชาติเปรี้ยวติดอยู่ เนื่องด้วยสละยังไม่ลืมต้น ต้องทิ้งไว้ประมาณ 2-3 คืน จะทำให้สละมีความหวานหอมมากขึ้น ให้เก็บใส่กล่อง ปิดฝากล่องให้มิดชิด อย่าให้โดนลมมาก หรือห่อกระดาษหนังสือพิมพ์และพรมน้ำเอาไว้เพื่อป้องกันเปลือกแห้ง อุณหภูมิที่เหมาะสมในการเก็บรักษาคือ 15 องศาเซลเซียส ผลสละมีอายุการเก็บรักษาได้ประมาณ 1 เดือน สละ มีผลเรียวยาว เปลือกจะมีสีแดงคล้ำอมน้ำตาลเมื่อแก่ หนามไม่แข็งเท่าระกำ ใน 1 ผล จะมีเนื้ออยู่ 1-2 กลีบ มีเนื้อเยอะ และรสหวานกว่าระกำ ระกำ มีผลป้อม เปลือกจะมีสีแดงสดเมื่อแก่ หนามเยอะและแข็งกว่าสละ ใน 1 ผล จะมีเนื้ออยู่ 2-3 กลีบ มีเนื้อน้อย และรสเปรี้ยวกว่าสละ นำผลสละมาร่อนหรือเขย่าตะกร้า เพื่อให้หนามหลุดออกให้มากที่สุด ก็จะได้ผลสละที่ไม่มีหนาม จากนั้นปอกเปลือกสละ โดยจับปลายของผลสละทั้งสองด้านแล้วบิดออก เท่านี้ก็จะได้ผลสละที่พร้อมรับประทานแล้ว นำสละไปล้างน้ำให้สะอาด ปอกเปลือกสละและลอกเยื่อบาง ๆ ออก ใช้มีดกรีดสละจากขั้ว แล้วสอดมีดคว้านให้แนบเม็ด หมุนวนจนครบรอบ พลิกด้านสละแล้วทำอีกครั้ง จากนั้นใช้ปลายมีดดันเม็ดให้หลุดออกจากเนื้อสละ ใครชอบกินสละ ลองนำเคล็ดลับการปอกสละและคว้านสละแบบง่าย ๆ ไปทำตามกันดู รับรองได้ฟินกับสละเนื้อหวานฉ่ำแบบมือไม่ช้ำแน่นอน ► สละลอยแก้ว ขนมคลายร้อนหอมหวานอร่อยเต็มคำ ► น้ำระกำ เครื่องดื่มชื่ออมทุกข์ แต่รสชาตินี่พลาดไม่ได้ ขอบคุณข้อมูลจาก : medthai.com, คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มทร.พระนคร
แสดงความคิดเห็น