รู้จัก หม่าล่า อาหารเผ็ดซ่า ที่ใคร ๆ ก็อยากลอง

หม่าล่า คืออะไร ? แล้วความเผ็ดจนลิ้นชานี่มันมาจากไหน มาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กันค่ะ

          ฮอตฮิตติดลมบนสุด ๆ กับอาหารชื่อแปลกชนิดนี้ “หม่าล่า” ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน เรียกว่าเดินไปที่ไหนก็เจอแผงหรือร้านขายหม่าล่ากันเต็มไปหมด เพื่อน ๆ หลายคนคงเคยลองและติดใจรสชาติเผ็ดซ่าจนลิ้นชาของหม่าล่ากันมาเยอะแล้ว แต่รู้หรือไม่ว่า แท้จริงแล้ว หม่าล่าคืออะไร และมีที่มาจากที่ไหนกันแน่ วันนี้กระปุกดอทคอมหาคำตอบมาไว้ให้ทุกคนแล้วค่ะ
 
หม่าล่า

หม่าล่า คืออะไร
          ความจริงแล้วหม่าล่าไม่ใช่อาหาร แต่เป็นรสชาติ มาจากการรวมตัวอักษรจีน 2 ตัว คือ
หม่า คือ การทำให้ชา
ล่า คือ เผ็ดฉุน
          รวมกันแล้วจึงแปลว่า “ความเผ็ดฉุนที่ทำให้ชา” เมื่อกินเข้าไปแล้วก็จะทำให้ลิ้นและภายในปากของเรารู้สึกชานั่นเอง
ประวัติของหม่าล่า
          ต้นกำเนิดที่ชัดเจนของหม่าล่ายังไม่เป็นที่แน่ชัดนักว่าเริ่มต้นจากเมื่อใดและที่ใด แต่มีแหล่งข้อมูลหลายแห่งระบุว่า น่าจะเริ่มต้นมาจากตลาดกลางคืน ที่ครัวของท่าเรือในนครฉงชิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ในช่วงศตวรรษที่ 19-20 ด้วยรสชาติที่เข้มข้น เผ็ดร้อน ให้ความรู้สึกอบอุ่น และชั้นน้ำมันหนาที่ช่วยถนอมอาหาร รวมถึงช่วยกำจัดกลิ่นคาวที่ไม่พึงประสงค์ของอาหารที่มีราคาถูกหรือกลิ่นสาบของเนื้อสัตว์ เช่น เลือดที่แข็งตัว กระเพาะและไตของเนื้อสัตว์ ทำให้มีการนำซอสหม่าล่ามาทำอาหารให้กับคนงานในท่าเรือนั่นเอง
ความเผ็ดของหม่าล่า มาจากไหน
          ความเผ็ดนั้นมาจากพริกไทยเสฉวน (Sichuan Peppercorn) หรือฮวาเจียว (huājiāo) มีรูปร่างคล้ายกับพริกไทย และรสชาติคล้ายกับมะแขว่นในบ้านเรา ผสมกับเครื่องเทศอีกหลายชนิด นำมาคั่วกับน้ำมันจนกลายเป็นซอสหม่าล่า เป็นหนึ่งในส่วนผสมสำคัญของอาหารจีนเสฉวน โดยเฉพาะอาหารของนครฉงชิ่ง ต่อมาได้แพร่หลายออกไปตามภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศจีน จนในที่สุดก็ได้กระจายความนิยมออกมาสู่ประเทศไทยบ้านเราด้วย
หม่าล่า

          ซอสหม่าล่า ถูกนำมาใช้ในการปรุงอาหารมากมายหลากหลายวิธี ตั้งแต่ ผัด ต้ม ตุ๋น ซุป หม้อไฟหรือหม้อจุ่ม หรือทำเป็นน้ำจิ้ม และในมณฑลเสฉวนและยูนนาน จะมีผงหม่าล่า (málàfĕn) สำหรับปรุงรสอาหารที่เอาไว้โรยบนขนมของว่างหรืออาหารข้างทางต่าง ๆ เช่น เต้าหู้เหม็น มันฝรั่งทอด และบาร์บีคิวเนื้อและผักเสียบไม้ เป็นต้น
หม่าล่า

ส่วนผสมหลักของหม่าล่า
          หม่าล่า มีส่วนผสมสำคัญหลัก ๆ คือ พริกไทยเสฉวน พริกแห้ง พริกป่น ซอสโต้วป้าน (ซอสถั่วที่มีความเผ็ด เป็นเครื่องปรุงรสชนิดหนึ่งของจีน คล้าย ๆ น้ำพริกเผาของบ้านเรา) กานพลู กระเทียม โป๊ยกั๊ก กระวานดำ ยี่หร่า ขิง อบเชย เกลือ และน้ำตาล ส่วนผสมต่าง ๆ เหล่านี้จะนำไปเคี่ยวกับไขกระดูกของวัวและน้ำมันพืชเป็นเวลาหลายชั่วโมง เมื่อได้ที่ก็จะนำไปบรรจุลงขวดโหลเพื่อเก็บต่อไป ทั้งนี้ สามารถเพิ่มสมุนไพรและเครื่องเทศอื่น ๆ เช่น ขิงทราย แปะจี้ และเมล็ดงาดำ เพื่อสร้างรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ได้ ซึ่งแต่ละบ้านแต่ละครัวก็จะมีสูตรเฉพาะเป็นของตัวเอง เพราะใช้เครื่องเทศหรือส่วนผสมที่อาจจะเหมือนหรือแตกต่างกันก็ได้
หม่าล่า กับรสนิยมการกินของคนไทย

          ความฮิตของหม่าล่าที่เข้ามามีบทบาทในวงการอาหารของเมืองไทย เริ่มต้นมาจากภาคเหนือค่ะ จังหวัดเชียงใหม่ถือว่าเป็นจังหวัดแรก ๆ เลยที่รับเอาวัฒนธรรมหม่าล่าเข้ามา ส่วนใหญ่จะมาในรูปแบบของปิ้งย่าง เช่น เนื้อสัตว์และผักเสียบไม้ย่างแล้วโรยผงหม่าล่าเพิ่มความเผ็ดร้อน และในปัจจุบันได้กระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย ประยุกต์ให้มีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น เช่น ชาบู สุกี้ หม้อไฟ และอาหารจานเดียวต่าง ๆ เพราะหม่าล่านั้นสามารถทำมาปรุงอาหารได้หลายอย่างไม่ว่าจะเป็น ต้ม ผัด แกง ทอด ปิ้งย่าง หม้อจุ่ม ที่เห็นบ่อยและนิยมกันในบ้านเรา ได้แก่

  • ใช้ซอสทาให้ชุ่มบนเนื้อสัตว์และผักเสียบไม้ย่าง และอาจจะโรยผงหม่าล่าอีกรอบ เพื่อให้ได้รสชาติที่เข้มข้นขึ้น
  • ใช้เป็นส่วนผสมของน้ำซุปหม่าล่าในร้านชาบู
หม่าล่า

  • ใช้ซอสเป็นเครื่องปรุงในการผัดเนื้อสัตว์และผักต่าง ๆ
  • ใช้เป็นส่วนผสมในการทำน้ำจิ้มต่าง ๆ เช่น น้ำจิ้มหมูกระทะ สูตรหม่าล่า

          หม่าล่า จัดว่าเป็นอาหารที่มีรสชาติที่ถูกปากคนไทยซึ่งชอบอาหารรสจัดจ้านเป็นอย่างมาก จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมถึงได้รับความนิยมและฮิตติดตลาดได้อย่างรวดเร็วขนาดนี้ นอกจากรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว ยังสามารถนำไปประยุกต์กับอาหารประเภทอื่น ๆ ได้อย่างอิสระ ไม่แน่ว่าในอนาคตอันใกล้นี้ อาจจะมีพิซซ่าหน้าหม่าล่า หรือก๋วยเตี๋ยวต้มยำหม่าล่า ก็เป็นได้นะ

ข้อมูลจาก
innnews
 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รู้จัก หม่าล่า อาหารเผ็ดซ่า ที่ใคร ๆ ก็อยากลอง อัปเดตล่าสุด 21 มิถุนายน 2566 เวลา 15:40:55 104,776 อ่าน
TOP
x close