ตำโคราชแก่นตะวัน
แกงคั่วกระดูกหมูอ่อนใส่แก่นตะวัน
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก รายการภัตตาคารบ้านทุ่ง โพสต์โดย คุณ LadyBimbettes สมาชิกเว็บไซต์ยูทูบดอทคอม
การนำพืชผักสมุนไพรมาปรุงเป็นอาหาร นอกจากจะมีรสชาติเยี่ยมแล้ว สรรพคุณในสมุนไพร ยังช่วยบำรุงให้ผู้รับประทานมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงมากยิ่งขึ้น รายการภัตตาคารบ้านทุ่ง (2 กันยายน) จึงพาทุกท่านไปรู้จักกับสมุนไพรอีกชนิดหนึ่ง ที่นอกจากจะอุดมไปด้วยแร่ธาตุแล้ว ยังช่วยบรรเทาโรคต่าง ๆ ได้อีกด้วยนั่นก็คือ แก่นตะวัน
แก่นตะวัน หรือชื่อเดิมคือ แห้วบัวตอง โดยในอดีตแก่นตะวันมีอยู่เป็นจำนวนมากในทวีปอเมริกาเหนือ แต่เพราะแก่นตะวันสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพภูมิอากาศของเขตร้อนได้ดี จึงมีการนำมาปลูกในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 โดย ธราเทพ ศรีพูล เกษตรกรใน ต.ท่าอ่าง อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา ได้เล่าว่า แก่นตะวัน มีลักษณะคล้ายดอกทานตะวัน แต่การนำมารับประทานจะแตกต่างกัน เพราะหากเป็นดอกทานตะวัน เราจะรับประทานในส่วนที่เป็นเมล็ด ในขณะที่การรับประทานแก่นตะวัน เราจะรับประทานในส่วนหัวที่อยู่ใต้ดิน
ซึ่งการเพาะเลี้ยงแก่นตะวันนั้น ต้องรอจนกว่าดอก และใบ ของแก่นตะวัน จะแห้งเหี่ยวจนหมด จากนั้นสารอินนูลินที่อยู่ในใบ และดอก จึงจะลงไปที่หัว พร้อมให้เรานำไปรับประทานได้ โดยหัวของแก่นตะวัน จะมีความพิเศษกว่าพืชตระกูลหัวอื่น ๆ คือ เมื่อเรารับประทานเข้าไปแล้ว สารอินนูลิน ในหัวของแก่นตะวัน จะช่วยลดความเสี่ยงของโรคเบาหวาน ลดไขมันในเส้นเลือด ช่วยบรรเทาโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือด โรคหัวใจ และช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโรค นอกจากนี้ หัวของแก่นตะวันยังให้แคลอรี่ต่ำ ไม่เพิ่มน้ำตาลในเลือด รวมทั้งกากอินนูลิน ยังช่วยทำความสะอาดทางเดินอาหาร ทำให้รู้สึกอิ่มได้นาน และช่วยด้านการขับถ่ายด้วย
แค่สรรพคุณทางยา ก็ว่าสารพัดประโยชน์แล้วใช่ไหมล่ะคะ แต่ข้อดีของแก่นตะวันยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เราสามารถนำแก่นตะวันมารับประทานสด ๆ ได้ โดยรสสัมผัสจะกรุบกรอบ หวาน มัน เหมือนกินแห้วผสมมันแกว ยิ่งถ้านำไปแช่เย็นก็จะยิ่งหวานกรอบมากขึ้น แต่การนำมารับประทานสด ๆ อาจจะดูธรรมดาไปหน่อย ดังนั้นวันนี้เราจะมาแนะนำเมนูเด็ดจากแก่นตะวัน โดยเมนูแรกเป็นเมนู "ตำโคราชแก่นตะวัน" แต่จะแซบ หรือจะนัว แค่ไหนนั้น เราไปดูส่วนประกอบกันก่อนดีกว่าจ้า
ตำโคราชแก่นตะวัน
สิ่งที่ต้องเตรียม
แก่นตะวัน
กุ้งสด
กุ้งแห้ง
ปูนานึ่ง
พริกสด
แครอท
มะเขือเทศสีดา
ถั่วฝักยาว
มะนาว
กระเทียม
ถั่วลิสง
มะขามเปียก
น้ำตาลปี๊บ
ปลาร้า
น้ำปลา
วีธีทำ
1. ปอกแก่นตะวัน ล้างน้ำให้สะอาด จากนั้นสับเป็นเส้น ๆ เหมือนสับมะละกอ แล้วไปนำแช่น้ำเกลือ
2. คั่วถั่วลิสงด้วยไฟอ่อน ๆ แล้วบี้เปลือกถั่วทั้งหมด ก่อนนำไปร่อนให้เปลือกถั่วหลุดออกจนหมด
3. ลวกกุ้งสดให้พอสุก ลวกกุ้งแห้ง จากนั้นปอกเปลือกแครอท แล้วสับเป็นชิ้น ๆ
4. เด็ดพริกใส่ครก ตามด้วยกระเทียม ตำให้พอบุบ แล้วจึงหั่นถั่วฝักยาวขนาดพอดีคำลงไปโขลกให้พอแตก
5. ใส่แก่นตะวันลงไป ตามด้วยแครอท มะเขือเทศ แล้วเติมรสด้วยมะนาว น้ำตาลปี๊บ น้ำปลาร้า
6. เพิ่มมะขามเปียก น้ำปลา อีกเล็กน้อย ตำส่วนผสมทั้งหมดเข้าด้วยกัน
7. ใส่ปูเค็ม กุ้งแห้ง โรยถั่วเพิ่มความมัน ตามด้วยกุ้งสด จากนั้นคลุกเคล้าส่วนผสมทั้งหมดเข้าด้วยกัน
แค่นี้ก็เป็นเสร็จเรียบร้อยแล้วกับเมนูตำโคราชแก่นตะวัน รับรองแซบถึงใจ และถูกปากทุกคนแน่ ๆ ค่ะ และไม่รอช้า เรามาต่อกันด้วยเมนูที่สองเลยดีกว่า เมนูนี้มีชื่อว่า แกงคั่วกระดูกหมูอ่อนใส่แก่นตะวัน ส่วนประกอบ มีดังนี้
เมนูแกงคั่วกระดูกหมูอ่อนใส่แก่นตะวัน
ส่วนประกอบ
แก่นตะวัน
กระดูกอ่อนหมู
ใบยี่หร่า
ใบมะกรูด
ขมิ้นสด
ตะไคร้
พริกแห้ง
กระเทียม
กะปิ
น้ำปลา
ซีอิ๊วขาว
น้ำตาลปี๊บ
เกลือป่น
วิธีทำ
1. หั่นตะไคร้ ข่า ขมิ้น และปอกกระเทียม เพื่อเตรียมเครื่องให้เรียบร้อย
2. นำพริกแห้งไปแช่น้ำ แล้วทำการสับกระดูกหมูเป็นชิ้นขนาดพอคำ
3. นำตะไคร้ ข่า ขมิ้น กระเทียม ที่เตรียมไว้ ใส่ลงในครก แล้วโรยเกลือให้พอเค็ม
4. ตำส่วนผสมทั้งหมดให้แหลก เมื่อได้ที่แล้ว ให้นำพริกแห้งลงไปตำให้แหลกอีกรอบ ก่อนเติมกะปิลงไปผสม
5. หั่นแก่นตะวันเป็นชิ้น ๆ ต้มกะทิให้เดือด จากนั้นเมื่อกะทิเดือดได้ที่แล้ว ให้ใส่พริกแกงลงไปเคี่ยว
6. เมื่อแกงกะทิเดือดได้ที่ ให้ใส่กระดูกหมูอ่อน ตามด้วยแก่นตะวัน
7. เติมน้ำกะทิให้พอท่วม จากนั้นปิดฝา รอให้เดือด
8. ตบท้ายปรุงรสด้วยซีอิ๊ว ใบยี่หร่า ใบมะกรูด เพื่อเพิ่มความหอม
เสร็จเรียบร้อยแล้ว สำหรับแกงคั่วกระดูกหมูอ่อนใส่แก่นตะวัน เมนูนี้หากนำไปรับประทานกับข้าวสวยร้อน ๆ รับรองว่าอิ่มอร่อย ได้ประโยชน์เต็ม ๆ คำ สำหรับใครที่กำลังมองหาเมนูสมุนไพรใหม่ ๆ อย่าลืมซื้อแก่นตะวันมาลองรับประทานกันดูนะคะ จะทานสด ๆ ก็ได้ หรือจะนำมาประยุกต์เป็นสารพัดเมนูก็ดี รับรองว่า อร่อย และมีประโยชน์แน่นอนจ้า