น้ำพริกคุณยาย เมนูเด็ดต้านกระดูกพรุน (HEALTH & CUISINE)
หลายท่านคงเคยได้ยินเกี่ยวกับโรคกระดูกพรุนกันมาบ้างว่า มักพบในกลุ่มผู้สูงอายุ โดยสัญญานเตือนอาจเริ่มจาก มีอาการปวดหลัง เดินตัวงอ หรือรู้สึกว่าเตี้ยลงผิดปกติ ซึ่งส่อว่ารูปทรงกระดูกหรือมวลกระดูกในร่างกายของผู้นั้นเริ่มเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่ควรที่จะนิ่งนอนใจ และควรรีบพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำที่เหมาะสม
โรคกระดูกพรุนคือ ภาวะความหนาแน่นของมวลกระดูกลดลง โครงสร้างภายในกระดูกเสื่อมสลาย ส่งผลให้กระดูกแตกหักได้ง่าย ระยะเริ่มต้นของโรคมักไม่พบอาการ ต่อเมื่อ มวลกระดูกลดลงจนกระดูกบาง อาจเกิดกระดูกหักหรือยุบตัว เช่น กระดูกสันหลังหักยุบทำให้หลังโก่ง เดินตัวงอโค้งหรือปวดหลัง หรือมีภาวะกระดูกสะโพกหักและมีอาการปวดร้าวสะโพกลงขาทำให้เดินไม่ได้ เป็นต้น ซึ่งโรคนี้มักพบในผู้สูงอายุโดยเริ่มตั้งแต่ 60 ปีเป็นต้นไปมากกว่าในวัยอื่น ๆ และเกิดกับผู้หญิงที่เริ่มหมดประจำเดือนหรือผู้หญิงวัยทองซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงมากกว่าเพศชาย ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ได้แก่ ผู้ที่สูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคไทรอยด์เป็นพิษ ข้ออักเสบรูมาตอยด์ ผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์ในปริมาณมากและต่อเนื่องยาวนาน สตรีที่ประจำเดือนหมดไวกว่าปกติก่อนอายุ 45 ปี
วิธีการป้องกันโรคกระดูกพรุนนั้น ขั้นแรกคือ การตัดหรือลดทอนปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น เลี่ยงการดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ หมั่นออกกำลังกายเพื่อให้กล้ามเนื้อและกระดูกแข็งแรงในท่าที่เหมาะสม สำหรับผู้สูงอายุควรเลือกการออกกำลังกายที่ไม่รุนแรงหรือหักโหม เช่น ฤๅษีดัดตน รำชี่กงหรือรำไทเก๊ก หรือการฝึกโยคะ เป็นต้น
นอกจากนี้การรับประทานอาหารเพื่อเสริมแคลเซียมก็สามารถชะลอสภาวะโรคดังกล่าวได้ เช่น ดื่มนมที่มีแคลเซียมสูงเป็นประจำ บริโภคปลาตัวเล็กที่รับประทานได้ทั้งตัวหรืออาหารทะเล เช่น กุ้งเปลือกนิ่มรับประทานได้ทั้งเปลือก หรือแคลเซียมที่ได้จากตัวเคย และจากผักใบเขียวเข้ม เป็นต้น ส่วนการรับประทานแคลเซียมเสริมชนิดเม็ด ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ เพราะผู้ที่สมควรจะรับประทานแคลเซียมชนิดนี้ต้องมีภาวะเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนอย่างชัดเจนเพื่อป้องกันภาวะกระดูกงอกจากแคลเซียมเกิน
เขียนถึงตรงนี้ดิฉันก็นึกถึงคุณยายและเมนูน้ำพริกที่ท่านรับประทานเป็นประจำขึ้นมาทันที น่าเสียดายที่จำชื่อน้ำพริกถ้วยนั้นไม่ได้ แต่เท่าที่รู้คุณยายของดิฉันแข็งแรงรูปร่างสูงใหญ่เดินหลังไม่งอ สามารถหาบน้ำทำงานสวน ดายหญ้าได้ และที่สำคัญอายุยืน ซึ่งเมื่อพิจารณาดูส่วนผสมของน้ำพริกนี้แล้ว ก็เข้าเกณฑ์ว่าเป็นอาหารสุขภาพช่วยเสริมมวลกระดูกได้อย่างดี ครั้งนี้ดิฉันจึงขอนำเสนอตำรับน้ำพริกถ้วยโปรดของคุณยายฝากไว้ให้ผู้อ่านทุกท่านปรุงเพื่อรับประทานและดูแลสุขภาพของผู้สูงวัยในบ้านกันค่ะ
ส่วนผสม (สำหรับ 2 ที่)
พริกขี้หนูแห้งคั่ว 5 เม็ด
ขาวซอยคั่ว 1 ช้อนชา
ตะไคร้ซอยคั่ว 2 ช้อนชา
หอมเล็กซอยคั่ว 2 ช้อนโต๊ะ
กระเทียมไทยคั่ว 2 ช้อนโต๊ะ
มะเขือส้มย่างไฟจนสุก 6 ลูก
น้ำตาลปี๊บ 1/2 ช้อนชา
ปลาสลาดย่างหรือปลาสร้อยย่าง นำไปปิ้งไฟอีกครั้งจนกรอบดี โขลกละเอียด 4 ช้อนโต๊ะ
ต้นหอมซอย 1 ช้อนชา
ผักชีซอย 1 ช้อนชา
น้ำปลา 2 1/2 ช้อนชา
เครื่องเคียงน้ำพริก
กุ้งฝอยล้างสะอาด 100 กรัม นำไปคั่วในกระทะใส่เกลือ 1/2 ช้อนชา
ใบมะกรูด 5 ใบ ตะไคร้ซอย 1 ต้น จัดใส่จานสำหรับรับประทานกับน้ำพริก
ดอกแคลวก 10 ดอก
ฟักทองหั่นชิ้นพอคำต้มสุก 8 ชิ้น
กระเจี๊ยบเขียวต้มสุก 6 ฝัก
ยอดหรือดอกผักปลังลวก 60 กรัม
เห็ดนางฟ้าต้มสุก 8 ดอก
วิธีทำ
ใส่ส่วนผสมน้ำพริกที่คั่วแล้วลงครก โขลกพอแหลก ใส่ปลาสลาดป่น ปรุงรสด้วยน้ำตาล น้ำปลา ใส่มะเขือส้มย่างบุบให้แตก ชิมรสให้เผ็ด เค็ม หวาน และเปรี้ยวเล็กน้อยแล้วตักขึ้น โรยด้วยต้นหอมและผักชีซอย เวลารับประทานจึงคลุกให้เข้ากัน (ถ้าไม่ชอบน้ำพริกที่แห้งก็สามารถเติมน้ำสุกเล็กน้อยได้)
ปลาย่างและกุ้งฝอย เป็นแหล่งอาหารธรรมชาติที่มีแคลเซียมสูงข่า ช่วยขับลม แก้อาการปวดบิดมวนลำไส้ตะไคร้ ช่วยขับปัสสาวะได้ดีขึ้นหอมแดง ช่วยขับลม แก้จุกเสียดกระเทียม ช่วยลดไขมันในเลือดผักต่างๆ ช่วยเพิ่มกากใยอาหารทำให้ขับถ่ายสะดวกดอกแค นอกจากมีกากใยแล้วยังช่วยให้เจริญอาหาร
คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อน ๆ ได้ที่นี่
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
ปีที่ 14 ฉบับที่ 157 กุมภาพันธ์ 2557