วันไหว้พระจันทร์
ประวัติวันไหว้พระจันทร์
ต้นกำเนิดของเทศกาลนี้ไม่เป็นที่ปรากฏแน่ชัด บ้างก็ว่า จักรพรรดิวู แห่งราชวงศ์ฮั่น เป็นผู้ริเริ่มการฉลองเพื่อกราบไหว้พระจันทร์เป็นเวลา 3 วัน ในฤดูใบไม้ร่วงนี้
ขณะที่บางประวัติศาสตร์กล่าวว่า เทศกาลไหว้พระจันทร์ เกิดขึ้นในราวปี พ.ศ. 1911 ในช่วงมองโกลยึดครองจีน ขนมเค้กที่ทำขึ้นก็เพื่อซุกซ่อนข้อความลับของพวกกบฏ ที่มีถึงประชาชนทั่วทั้งประเทศให้มาชุมนุมกันครั้งใหญ่ โดยทหารมองโกลไม่ได้ระแวงถึงจุดประสงค์ของพวกกบฏ เพราะคิดว่าขนมเค้กเหล่านั้นเป็นการทำตามประเพณีดั้งเดิมของชาวจีน ด้วยเหตุนี้ในคืนนั้นเองทหารมองโกลจึงถูกปราบเสียราบคาบ หลังจากที่ราชวงศ์ใหม่คือราชวงศ์หมิงได้ถูกจัดตั้งขึ้นแล้ว วันไหว้พระจันทร์จึงถือปฏิบัติกันมาจนถึงทุกวันนี้
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ วันไหว้พระจันทร์ 2566 ตรงกับวันศุกร์ที่ 29 กันยายน
ไหว้พระจันทร์ ทำอย่างไร
ไหว้พระจันทร์ ทำอย่างไร
ไหว้พระจันทร์ใช้ธูปกี่ดอก ? ส่วนใหญ่ตำราต่าง ๆ มักแนะนำให้จุดธูป 3 ดอก หรือ 5 ดอก ก็ได้ โดยมีคำแนะนำว่า หากไหว้ด้วยผลไม้ 5 ชนิด ก็ควรใช้ธูป 5 ดอก แต่ถ้าบ้านไหนใช้ธูปพิเศษ เช่น ธูปมังกร ก็จุดธูปดอกใหญ่ดอกเดียวได้ โดยไหว้เป็น 3 ช่วงด้วยกัน คือ
-
ช่วงเช้า จัดของไหว้เจ้าเหมือนปกติ แต่เพิ่มขนมไหว้พิเศษ คือ ขนมไหว้พระจันทร์, ขนมโก๋, ขนมเปี๊ยะต่าง ๆ
-
ไหว้บรรพบุรุษ จัดของไหว้บรรพบุรุษเหมือนปกติ แต่เพิ่มขนมไหว้พิเศษ คือ ขนมไหว้พระจันทร์, ขนมโก๋, ขนมเปี๊ยะต่าง ๆ
-
ไหว้เจ้าแม่ในตอนค่ำ เมื่อดวงจันทร์เริ่มปรากฏบนท้องฟ้า
สำหรับสถานที่ไหว้พระจันทร์ในตอนค่ำ ควรเลือกที่กลางแจ้ง อาจเป็นลานบ้าน หน้าบ้าน หรือดาดฟ้าก็ได้ เตรียมทุกอย่างให้เสร็จก่อนพระจันทร์ขึ้น หันหน้าไปทางทิศตะวันออก จุดธูปเทียนอธิษฐานขอพรจากพระจันทร์ และควรเก็บโต๊ะก่อนที่พระจันทร์จะเลยศีรษะไป หรือเมื่อเทียนดอกใหญ่ดับลง เมื่อเสร็จสิ้นพิธีก็นำขนมไหว้พระจันทร์มากิน โดยหั่นแบ่งให้เท่ากับจำนวนคนในครอบครัว
สูตรขนมไหว้พระจันทร์
1. ขนมไหว้พระจันทร์ ไส้ทุเรียนไข่เค็ม
ส่วนผสม แป้งขนมไหว้พระจันทร์ (พิมพ์ขนาด 3 นิ้ว)
-
แป้งเค้ก (แป้งส่วนที่ 1) 240 กรัม
-
น้ำเชื่อม 250 กรัม
-
น้ำมันถั่วลิสง 80 กรัม
-
น้ำด่าง 2 ช้อนชา
-
แป้งขนมปัง 125 กรัม (แป้งส่วนที่ 2)
ส่วนผสม ไส้ขนมไหว้พระจันทร์ (ไส้ทุเรียน)
-
ทุเรียนกวน 1,500-1,600 กรัม
-
ไข่แดงเค็ม 15 ลูก
ส่วนผสม ไข่ทาหน้าขนมไหว้พระจันทร์
-
ไข่แดง 1 ฟอง
-
ไข่ไก่ 1 ฟอง
-
นม 1 ช้อนชา
-
น้ำเชื่อม 1/2 ช้อนชา
ส่วนผสม น้ำเชื่อมทาหน้าขนมไหว้พระจันทร์
-
น้ำตาลทรายไม่ขัดสี 1 กิโลกรัม
-
น้ำ 600 มิลลิลิตร
-
น้ำมะนาวหรือน้ำเลมอน 2 ช้อนโต๊ะ
-
เปลือกเลมอน (ใส่หรือไม่ก็ได้)
วิธีทำขนมไหว้พระจันทร์ ไส้ทุเรียนไข่เค็ม
-
ทำน้ำเชื่อม โดยใส่น้ำตาลทรายกับน้ำลงไปในหม้อต้ม เติมน้ำมะนาวและเปลือกเลมอนลงไป ต้มด้วยไฟอ่อนประมาณ 1 ชั่วโมง ระหว่างต้มก็คนเป็นพัก ๆ
-
พอผ่านไป 1 ชั่วโมง ลองตักมาเช็กดูว่าน้ำเชื่อมได้ที่หรือยัง น้ำเชื่อมที่ได้จะมีลักษณะข้นหนืดคล้าย ๆ น้ำผึ้ง
-
พอน้ำเชื่อมได้ที่แล้วดับเตา ตักเปลือกเลมอนออก จากนั้นพักให้เย็นลง พอเย็นลงแล้วเทใส่ขวด เก็บไว้อย่างน้อย 1 อาทิตย์ ก่อนนำมาใช้
-
ทำเปลือกขนมไหว้พระจันทร์ โดยใส่น้ำเชื่อม น้ำมันถั่วลิสง และน้ำด่าง ลงไปในชามผสม แล้วคนให้เข้ากัน เทแป้งเค้กส่วนที่ 1 ใส่ในชามผสม แบ่งใส่ทีละครึ่งจะได้ตะล่อมง่าย ๆ พักแป้งไว้ประมาณ 4-5 ชั่วโมง หรือพักค้างคืน
-
พอพักแป้งแล้วใส่แป้งขนมปัง (แป้งส่วนที่ 2) ลงไป นวดจนแป้งเนียนเข้ากัน จากนั้นพักแป้งอีกประมาณ 30 นาที (เอาผ้าคลุมไว้ด้วย)
-
นำไข่แดงเค็มไปอบที่อุณหภูมิ 180 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 5 นาที
-
ห่อขนมไหว้พระจันทร์ โดยแบ่งแป้งเป็นก้อนละ 45-50 กรัม
-
เตรียมไส้ทุเรียนกับไข่แดงเค็ม ชั่งรวมกันประมาณ 120-125 กรัม ใส่ไข่แดงลงไปในทุเรียนกวนแล้วห่อให้แน่น รีดแป้งเป็นแผ่น นำแป้งมาห่อไส้
-
ทาน้ำมันลงไปในพิมพ์ให้ทั่ว กดพิมพ์ลงไปบนขนมไหว้พระจันทร์ พอกดเสร็จหมดแล้วก็พรมน้ำให้ทั่ว นำไปอบที่อุณหภูมิ 200 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 10-15 นาที พออบเสร็จก็พรมน้ำให้ทั่วแล้วพักให้อุ่นลง
-
ใส่นมกับน้ำเชื่อมลงไปผสมในไข่ไก่กับไข่แดง (น้ำเชื่อมจะทำให้สีขนมเข้มสวยขึ้น) ทาไข่ให้ทั่ว อบต่อด้วยอุณหภูมิ 190-200 องศาเซลเซียส ใช้ไฟบน-ล่าง เป็นเวลา 20 นาที อบเสร็จแล้วพักให้ขนมเย็นแล้วก็เก็บไว้อีก 3 วัน จัดเสิร์ฟ
2. ขนมไหว้พระจันทร์ไส้คัสตาร์ด
ส่วนผสม แป้งขนมไหว้พระจันทร์
-
แป้งสาลีอเนกประสงค์
-
ผงคัสตาร์ด
-
ไข่ไก่
-
น้ำตาลทราย
-
นมสด
-
เนยสด
-
ไข่ไก่ (สำหรับทาหน้าขนม)
ส่วนผสม ไส้คัสตาร์ด
-
แป้งข้าวโพด
-
ไข่ไก่
-
เนยสด
-
น้ำตาลทราย
-
ผงคัสตาร์ด
-
แป้งสาลีอเนกประสงค์
-
นมสด
วิธีทำขนมไหว้พระจันทร์ไส้คัสตาร์ด
-
ทำไส้คัสตาร์ดด้วยการผสมแป้งข้าวโพด ไข่ไก่ เนยสด น้ำตาลทราย ผงคัสตาร์ด แป้งสาลีอเนกประสงค์ และนมสด ในเครื่องผสมจนเข้ากัน นำไปนึ่งประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วแช่ช่องแช่แข็ง 1 คืน จากนั้นนำมาตีในเครื่องผสมอีกครั้งให้คลายตัว
-
ทำแป้งขนมไหว้พระจันทร์ด้วยการผสมแป้งสาลีอเนกประสงค์ ผงคัสตาร์ด ไข่ไก่ น้ำตาลทราย นมสด และเนยสด ด้วยเครื่องผสมให้เข้ากัน แช่ตู้เย็น 1 คืน
-
ปั้นไส้คัสตาร์ดเป็นแท่งยาว แบ่งไส้เป็นชิ้นหนัก 21 กรัม ปั้นเป็นก้อนกลม เรียงใส่ถาด คลุมด้วยพลาสติกถนอมอาหาร แช่ในช่องแช่แข็งไว้ จะทำให้อยู่ทรงและหุ้มแป้งได้ง่าย
-
แบ่งแป้งขนมไหว้พระจันทร์และชั่งน้ำหนักให้ได้ 19 กรัม ปั้นเป็นก้อนกลม ใช้สันมือกดแป้งให้แบน นำแป้งมาหุ้มไส้ให้มิดและปั้นเป็นก้อนกลม
-
โรยแป้งสาลีเล็กน้อยที่พิมพ์ขนมและเคาะออก เพื่อป้องกันขนมติดพิมพ์ ใส่ขนมลงในพิมพ์ ใช้มือกดให้แน่นและแนบกับพิมพ์
-
รองผ้าที่โต๊ะแล้วเคาะพิมพ์ด้านซ้ายและขวาอย่างละ 1 ครั้ง คว่ำพิมพ์แล้วเคาะอีก 1 ครั้ง ขนมจะหลุดออกจากพิมพ์ง่าย เรียงขนมไหว้พระจันทร์ใส่ถาด ทาด้วยไข่ไก่บนหน้าขนมให้ทั่ว
-
นำเข้าเตาอบที่อุณหภูมิ 180 องศาเซลเซียส นาน 5 นาที จนแป้งสุกเหลือง พักไว้ให้เย็นแล้วเก็บใส่กล่อง
3. ขนมไหว้พระจันทร์วุ้นชาไทย
ส่วนผสม วุ้นชาไทย (เปลือกนอก)
-
ชาไทย 3/4 ถ้วย (วิธีทำชาไทย คลิกที่นี่)
-
นมข้นจืด (ฮาล์ฟแอนด์ฮาล์ฟหรือนมสด) 1/2 ถ้วย
-
น้ำตาลทราย 1/3 ถ้วย
-
ผงวุ้น 3/4 ช้อนโต๊ะ
ส่วนผสม วุ้นไข่แดง (ตรงกลาง)
-
น้ำแครอต (หรือชาไทย หรือกะทิใส่สีผสมอาหาร) 1+1/3 ถ้วย
-
น้ำตาลทราย 1/3 ถ้วย
-
ผงวุ้น 3/4 ช้อนโต๊ะ
-
พิมพ์วุ้นแบบวงกลม
ส่วนผสม ไส้วุ้นกะทิลอดช่อง (ตรงกลาง)
-
ลอดช่อง 1/3 ถ้วย (วิธีทำลอดช่อง คลิกที่นี่)
-
กะทิ 1 ถ้วย
-
น้ำตาลทราย 1/3 ถ้วย
-
ผงวุ้น 3/4 ช้อนโต๊ะ
-
เกลือป่น 1/2 ช้อนชา
วิธีทำขนมไหว้พระจันทร์วุ้นชาไทย
-
ทำวุ้นไข่แดง โดยใส่ผงวุ้นลงไปผสมกับน้ำแครอต คนให้เข้ากัน พักทิ้งไว้ประมาณ 15-20 นาที เพื่อให้ผงวุ้นดูดซึมน้ำได้อย่างเต็มที่ เทลงในหม้อ นำขึ้นตั้งไฟกลางสูง คนไปในทิศทางเดียวกันจนไม่มีผงวุ้นติดช้อน
-
ใส่น้ำตาลทรายลงไป คนไปในทิศทางเดียวกัน ประมาณ 7 นาที หรือจนละลายเป็นเนื้อเดียวกัน พอเริ่มเดือดปิดเตาไฟ พักทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที หรือจนเย็นตัวลง เทใส่พิมพ์วุ้นลูกแก้วจนถึงขอบ ปิดฝาพิมพ์วุ้นลูกแก้วทับลงไป หาอะไรหนัก ๆ มาทับ ปล่อยทิ้งไว้จนเย็นสนิทประมาณ 1 ชั่วโมง หรือถ้าอยากย่นเวลาก็เอาไปใส่ในตู้เย็น
-
พอวุ้นเซตตัวแล้วเปิดพิมพ์ออก แกะลูกวุ้นออกจากพิมพ์ ใส่ภาชนะ คลุมด้วยพลาสติกถนอมอาหาร นำไปแช่เย็นจนกว่าจะใช้
-
ทำตัวไส้วุ้นกะทิลอดช่อง โดยใส่ผงวุ้นลงในกะทิ คนให้เข้ากัน พักทิ้งไว้ประมาณ 15-20 นาที เทใส่หม้อนำไปตั้งบนเตาใช้ไฟกลางอ่อน หมั่นคนในทิศทางเดียวกันจนเริ่มเดือดเล็กน้อย ถ้าช้อนไม่มีเกล็ดวุ้นแล้วให้ใส่น้ำตาลทรายและเกลือลงไป คนผสมให้เข้ากันจนทุกอย่างละลาย รอจนกะทิเดือดอีกครั้ง ปิดไฟ
-
พักวุ้นกะทิประมาณ 10 นาที กรองด้วยกระชอน เทใส่ลงในลอดช่อง คนให้เข้ากัน เทใส่พิมพ์ถ้วยพลาสติกที่สามารถใส่ลงไปในพิมพ์ขนมไหว้พระจันทร์ได้ เทใส่ประมาณ 1/2 ถ้วย ตามด้วยวุ้นไข่แดงลงไปตรงกลางตามชอบ เสร็จแล้วเทส่วนผสมวุ้นกะทิลงไปเพื่อกลบไข่แดง พักทิ้งไว้ประมาณ 20 นาที เพื่อให้เย็นตัวลง แล้วเอาไปใส่ตู้เย็นเพื่อให้แข็งตัว
-
ทำวุ้นชาไทยเปลือกนอก โดยใส่ผงวุ้นลงไปในชาไทย คนให้เข้ากัน พักทิ้งไว้ประมาณ 15-20 นาที เทใส่หม้อใช้ไฟกลางสูง พอเริ่มเดือดและวุ้นไม่เป็นเกล็ดติดช้อนแล้วใส่น้ำตาลทรายและนมข้นจืด คนให้เข้ากัน พอเริ่มเดือดปิดไฟ พักทิ้งไว้ประมาณ 10 นาทีจนวุ้นเย็นตัวลง
-
เทส่วนผสมชาไทยใส่ลงไปในพิมพ์ขนมไหว้พระจันทร์ ประมาณ 1/4 ของตัวพิมพ์ พักทิ้งไว้ประมาณ 3 นาทีจนวุ้นเริ่มแข็งตัวเล็กน้อย วิธีสังเกตคือเอานิ้วสะอาดจิ้มลงไปบนผิววุ้น ถ้ามีเยื่อบาง ๆ ยังไม่แข็งก็ใส่ไส้ลงไปได้เลย
-
ใส่ไส้วุ้นกะทิลอดช่องลงไปตรงกลาง ราดด้วยวุ้นชาไทยที่เหลือลงไป ราดให้ท่วมตัวไส้ ถ้ามีส่วนวุ้นเลอะออกมาเกินตัวพิมพ์อย่าเพิ่งทำความสะอาดตอนนี้ เอาไว้ทำทีหลังได้ พักทิ้งไว้จนเริ่มแข็ง คลุมด้วยพลาสติกถนอมอาหาร แช่เย็นประมาณ 2 ชั่วโมง แกะพลาสติกออก ตัดแต่งขอบให้สวยงามด้วยมีด แกะออกจากพิมพ์ โดยใช้ไม้จิ้มฟันแซะตรงขอบพิมพ์เล็กน้อยเพื่อให้มีอากาศเข้าไปในตัวพิมพ์ จะได้เอาออกจากพิมพ์ได้ง่ายขึ้น
ร้านขนมไหว้พระจันทร์
บทความเกี่ยวกับวันไหว้พระจันทร์ วิธีไหว้พระจันทร์ และร้านขนมไหว้พระจันทร์
► 14 ร้านขนมไหว้พระจันทร์เจ้าเด็ด ต้อนรับเทศกาลไหว้พระจันทร์