เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขนมต้มเป็นขนมไทยโบราณที่มีรสชาติหวาน นุ่มกลมกล่อม เคี้ยวนุ่มลิ้น แถมมีความหอมของกลิ่นมะพร้าวกรุ่นกลั้วปาก ซึ่งถ้าสังเกตดูตามงานมงคลแล้ว เราจะเห็นว่าขนมต้มเป็นหนึ่งในขนมที่อยู่ในของไหว้ด้วย และวันนี้เราจะพามาดูประวัติขนมต้มกัน จะได้รู้ว่าทำไมขนมต้มแสนอร่อยนี้ ถึงโผล่ไปอยู่ในงานมงคลให้เราได้เห็นอยู่ตลอด
ขนมต้ม ขนมต้มขาว หรือขนมต้มแดง เป็นขนมโบราณตั้งแต่สมัยสุโขทัย นำเข้ามาพร้อมกับศาสนาพราหมณ์ และลัทธิความเชื่อในเรื่องของเทพเจ้า ซึ่งในสมัยนั้นขนมต้มจะถูกนำไปใช้ในพิธีบรวงสรวง สังเวย ไหว้ครู และเป็นขนมไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ด้วยเหตุที่มีความเชื่อกันว่า ขนมต้มเป็นขนมที่องค์พระพิฆเนศวรทรงโปรดมากที่สุด ถึงขนาดที่กินจนท้องแตกก็ยังกอบเอาขนมที่หกเลอะอยู่ที่พื้นกลับเขาท้องอีกครั้งด้วยความเสียดาย ขนมต้มจึงเหมือนเป็นขนมที่ใช้ถวายต่อองค์พระพิฆเนศวร เพื่อขอพรจากพระองค์ท่าน ให้ทำกิจการงานต่าง ๆ ประสบผลสำเร็จ ไม่มีอุปสรรคอะไรมากีดขวางนั่นเอง
ขนมต้มที่นิยมรับประทานนั้นมีอยู่ด้วยกัน 2 แบบคือ ขนมต้มขาว มีลักษณะเป็นแป้งลูกกลม ๆ ข้างในมีไส้ที่ทำด้วยมะพร้าวเคี่ยวกับน้ำตาล แล้วนำไปต้มให้สุก ก่อนรับประทานก็โรยด้วยมะพร้าวขูด เมื่อกัดตัวแป้งนุ่ม ๆ เข้าไปจะเจอกับไส้มะพร้าวหวานลิ้น หอมหวนชวนกิน และขนมต้มแดง ซึ่งมีลักษะเป็นแผ่นแป้งแบนไม่มีไส้ คลุกกับมะพร้าวและน้ำตาลปิ๊ปที่เคี่ยวจนเหนียวเป็นสีแดง กัดกินเข้าไปก็ได้รสหวานหอมกลิ่นมะพร้าวตั้งแต่คำแรกกันเลยทีเดียว
ทุกวันนี้ขนมต้มที่ยังมีให้เห็นกันตามตลาดส่วนมากจะเป็นขนมต้มขาว มีไส้ คลุกมะพร้าว แต่ขนมต้มแดงอาจจะหาได้ยากหน่อย นอกจากในพิธีมงคล เช่น พิธีไหว้ครู พิธีบวงสรวง พิธีตั้งศาลพระภูมิ หรือพิธีไหว้พระพิฆเนศ ก็จะได้เห็นทั้งขนมต้มขาว และขนมต้มแดงกันบ้าง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
utdid.com และ siamganesh.com