เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
แม้เกลือจะเป็นเครื่องปรุงส่วนเล็ก ๆ ประจำครัว ที่ดูเหมือนว่าจะไม่สลักสำคัญเท่าไหร่กับการปรุงอาหาร แท้จริงแล้วกลับเป็นส่วนผสมที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าเครื่องปรุงอื่น ๆ เลย ซึ่งสิ่งสำคัญนั้นอยู่ที่การเลือกใช้ หรือเลือกซื้อเกลือให้เหมาะสมกับประเภทอาหารที่เราจะปรุง ซึ่งถ้าหากได้รู้ว่าเกลือแต่ละชนิดนั้นมีความแตกต่างกันอย่างไร เพียงเท่านี้ก็ทำให้รสชาติอาหารในจานของคุณเปลี่ยนแปลงได้แล้ว ว่าแล้วตอนนี้ก็ไปดูกันดีกว่าว่า เกลือทั้ง 6 แบบที่เรานำมาฝากนั้นจะเหมาะสมกับการปรุงอาหารแบบใดบ้าง
เกลือโครเชอร์ (Kosher Salt)
วิธีการใช้ : เกลือโครเชอร์สามารถเข้ากันได้ดีกับอาหารทุกเมนู เพราะเกลือโครเชอร์จะละลายตัวภายในระยะเวลาสั้น ๆ และรสสัมผัสก็ยังกระจายตัวเข้าไปในอาหารได้รวดเร็วด้วย ดังนั้นเชฟส่วนใหญ่จึงมักจะใช้เกลือชนิดนี้โรยลงบนอาหารต่าง ๆ ทั้งคาวและหวาน ตั้งแต่เนื้อหมูอบ รวมไปถึงขนมกินเล่น อย่างเช่น ป็อปคอร์น หัวหอมทอด และอีกมากมาย
ลักษณะ : ผลึกของเกลือโคเชอร์ค่อนข้างขรุขระ เนื้อหยาบ ซึ่งผลึกลักษณะแบบนี้มีประโยชน์กับการทำอาหารมากทีเดียว เพราะสามารถให้รสชาติที่ยอดเยี่ยมได้ ถึงแม้จะใช้ในปริมาณที่เล็กน้อย นอกจากนี้เกลือชนิดนี้ยังไม่มีส่วนผสมของสารเคมีที่ใช้ในการป้องกันการจับตัวเป็นก้อนของอาหารแห้งประเภทที่เป็นผงด้วย (Anti-caking agent) ฉะนั้นจึงสามารถวางใจได้ในเรื่องของความปลอดภัยต่อสุขภาพ
เกลือทะเล เกลือสมุทร หรือดอกผลึกเกลือทะเล (Crystal Sea Salt)
วิธีการใช้ : หากคุณอยากจะให้ได้รสสัมผัสของเกลือทะเลอย่างเต็มที่ ควรเติมลงไปในอาหารที่เพิ่งทำเสร็จใหม่ ๆ ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้กับอาหารทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นสลัดผักที่เต็มไปด้วยผักสดมากมาย ไปจนถึงเมนูสุดหรู อย่างเช่น เนื้อปลาแซลมอนแล่เป็นชิ้น เป็นต้น
ลักษณะ : เนื่องจากผลึกของเกลือทะเลค่อนข้างละเอียดและมีผิวสัมผัสที่หยาบ ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจหากพบว่า เกลือละลายตัวอย่างรวดเร็วหลังจากที่คุณใส่เกลือทะเลลงไปในอาหาร ส่วนสีสันของเกลือทะเลนั้นไม่ได้มีสีขาวเพียงอย่างเดียว แต่จะแตกต่างออกไปตามแร่ธาตุที่เป็นสารประกอบอยู่ภายใน อย่างเช่น ธาตุเหล็ก ก็จะมีผลทำให้ผลึกของเกลือทะเลกลายเป็นสีแดง เป็นต้น แถมยังเป็นสาเหตุที่ทำให้เกลือมีรสชาติอมหวานหรืออาจจะปนขมเล็กน้อยได้ด้วยเหมือนกัน
เกลือหยาบ (Flaked Sea Salt)
วิธีการใช้ : เกลือหยาบเหมาะสำหรับนำไปใช้กับการนึ่งผัก หรือสัตว์น้ำที่มีเปลือก อย่างเช่น หอย ปู หรือกุ้ง เทคนิคในการทำก็คือ เทเกลือลงบนฝ่ามือเล็กน้อยแล้วขยี้เกลือให้ทั่วทั้งฝ่ามือและนิ้ว แล้วถูฝ่ามือกับของสดที่คุณจะนำไปทำอาหาร จากนั้นความเค็มของเกลือก็จะค่อย ๆ ซึมซับเข้าไปในอาหารที่ละน้อย
ลักษณะ : ผลึกของเกลือหยาบมีลักษณะเป็นสามเหลี่ยมคล้ายกับปิรามิด เนื้อนุ่ม ใส ดังนั้นจึงถูกจัดให้เป็นเกลือที่มีการละลายตัวรวดเร็วที่สุดในบรรดาเกลือทั้ง 6 ชนิด
เกลือเฟลอร์ เดอ เซล (Fleur de Sel) หรือดอกเกลือ
วิธีการใช้ : เกลือชนิดพิเศษที่ใช้แค่เพียงหยิบมือเดียวก็สามารถเปลี่ยนรสชาติให้กลมกล่อมได้แล้ว ซึ่งเหมาะอย่างยิ่งสำหรับใช้ในการโรยบนหน้าอาหารก่อนนำมารับประทาน หรือจะใช้เป็นเครื่องจิ้มสำหรับรับประทานกับผักหรือผลไม้ อย่างเช่น มะเขือเทศสไลด์ และเมลอนก็ได้
ลักษณะ : เกลือเฟลอร์ เดอ เซลมีผลึกที่ไม่ชัดเจน กล่าวคือ ลักษณะของผลึกนั้นไม่เด่นชัดสมบูรณ์เหมือนกับเกลือชนิดอื่น ๆ ซึ่งจุดนี้เองที่ทำให้เกลือเฟลอร์ เดอ เซล จะค่อย ๆ ละลายในปาก ทำให้คุณหรือผู้ที่รับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของเกลือเฟลอร์ เดอ เซล สามารถรับรสชาติจากเกลือชนิดนี้ได้อย่างเต็มที่
เกลือเม็ด (Rock Salt)
วิธีการใช้ : เกลือเม็ดเป็นเกลือที่ไม่นิยมนำไปใช้ในการทำอาหารเท่าไหร่นัก แต่จะนำไปใช้ในการกักเก็บรักษาอุณหภูมิของน้ำแข็งที่ใช้แช่เย็นไอศกรีมกันมากกว่า นอกจากนี้คุณยังสามารถนำเกลือหินไปใช้ในการละลายน้ำแข็งบนทางเท้าหรือบนถนนในช่วงหน้าหนาวได้ด้วย
ลักษณะ : ขนาดผลึกของเกลือหินมีขนาดค่อนข้างใหญ่ หนา สั้น และไม่มีรูปแบบที่แน่นอน หากในผลึกมีแร่หรือองค์ประกอบอื่น ๆ ปะปนอยู่ ก็อาจจะทำให้ผลึกของเกลือกลายเป็นเทาได้
เกลือสำหรับหมักดอง (Pickling Salt)
วิธีการใช้ : เกลือชนิดนี้จะถูกนำไปใช้ในการหมักดองเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเกลือดองนี้มีข้อควรระวังเล็กน้อย คือ ควรใช้ในปริมาณน้อย เนื่องจากเกลือชนิดนี้มีความเข้มข้นสูงกว่าเกลือทั่วไป
ลักษณะ : ลักษณะผลึกค่อนข้างสมบูรณ์เหมือนเกลือที่ใช้ในการบริโภคทั่วไป
ไม่ว่าเชื่อเลยว่า แค่เกลือสีขาวธรรมดาที่เราใช้ปรุงอาหารกันมาเนิ่นนาน จะมีความหลากหลายในการปรุงอาหารได้มากมายขนาดนี้ ในเมื่อรู้กันแบบนี้แล้วก็อย่าลืมนำเกลือไปใช้ให้เหมาะสมกับชนิดของอาหารกันด้วยนะคะ