เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ประโยคฮิตที่ว่า "รับขนมจีบ ซาลาเปาเพิ่มไหมคะ?" แสดงให้เห็นว่า ขนมจีบและซาลาเปาเป็นอาหารที่คนไทยคุ้นเคย จนเรียกได้ว่ากินกันอย่างเอร็ดอร่อยมาตั้งแต่บรรพุรุษ จนถึงลูกหลานอย่างเรา ๆ ซึ่งนอกจากซาลาเปาแบบมีไส้แล้ว ก็ยังมีหมั่นโถว หรือที่คนจีนสมัยก่อนเรียกว่า หม่านโถว ให้ได้เลือกรับประทานกันอีกด้วย หมั่นโถวก็จัดว่าเป็นซาลาเปาเหมือนกัน แตกต่างกันตรงที่เป็นแป้งหมี่นึ่งเปล่า ๆ ไม่มีไส้อยู่ข้างในเท่านั้น แล้วสงสัยไหมคะว่าทำไมหมั่นโถวถึงไม่มีไส้ซ่อนอยู่ข้างในเหมือนซาลาเปา วันนี้เราก็ขออาสามาไขความกระจ่าง ด้วยการนำที่มาของหมั่นโถวมาให้ทุกคนได้รู้จักกันค่ะ
ตามตำนานของหมั่นโถวปรากฎว่า ขงเบ้งเป็นต้นตำรับการทำหมั่นโถว ซึ่งในขณะนั้นถูกเรียกว่า หม่านโถว เนื่องจากถือเป็นตัวแทนของชาวเมืองหนานหมาน โดยเรื่องราวมีอยู่ว่า ในขณะที่ขงเบ้งได้เดินทางกลับหลังจากชนะศึกกับเบ้งเฮ็กสำเร็จ ก่อนที่จะข้ามสะพานแม่น้ำลกซุย หรือแม่น้ำจินซาเจียงในปัจจุบัน ก็เกิดเหตุเภทภัยทำให้ไม่สามารถเดินทางข้ามสะพานได้สำเร็จ ขงเบ้งก็วุ่นวายใจเนื่องจากไม่รู้ว่าเหตุที่พบเจอนี้มีสาเหตุมาจากอะไร จนในที่สุดก็ได้รู้ว่า แม่น้ำนี้มีภูตผีปีศาจอาศัยอยู่ และมักจะสำแดงเดชอย่างนี้อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งจะต้องแก้เคล็ดด้วยการนำศีรษะคนมาเซ่นไหว้จำนวน 49 หัว พร้อมด้วยม้าเผือกกระบือดำอีก 1 ตัว
ขงเบ้งไม่ต้องการจะเข่นฆ่าใครอีก ก็เลยตัดสินใจให้ทหารล้มม้าเผือกกระบือดำ และนำแป้งมาปั้นเป็นรูปศีรษะคนให้ครบจำนวน จากนั้นก็นำไปตั้งที่ริมแม่น้ำ จุดธูปเทียนและประทีปจำนวน 49 ดวง ตั้งจิตอฐิษฐานให้วิญญาณและปีศาจทั้งหลายเปิดทางให้พวกเขาได้ข้ามสะพานกลับบ้านไปได้อย่างปลอดภัย เมื่ออ่านคำบวงสรวงเสร็จแล้ว ขงเบ้งก็จุดประทัดตีม้าล่อ ต่อมาพายุและคลื่นระลอกก็สงบเป็นปกติ ขงเบ้งจึงยกทัพกลับไปเมืองเสฉวนได้
ทั้งนี้หม่านโถวมีความหมายว่า ศีรษะของคนหนานหมาน ซึ่งต่อมาคนจีนก็ถือว่าเป็นคำที่ดูรุนแรงเกินไปหน่อย หลัง ๆ ก็เลยเปลี่ยนเป็นหมั่นโถวอย่างที่เราคุ้นเคยกันทุกวันนี้นั่นเองค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
คุณ beeman, peijing, ราชบัณฑิตยสถาน และ China Radio International