x close

ประวัติ ขันโตก ประเพณีกินมื้อเย็นของภาคเหนือ

ประวัติ ขันโตก ประเพณีกินมื้อเย็นของภาคเหนือ

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
 
            ถ้าใครเคยได้ไปเที่ยวเชียงใหม่ หรือจังหวัดทางภาคเหนือของประเทศไทย คงไม่ยอมพลาดโอกาสไปดินเนอร์ที่คุ้มขันโตกร้านดัง ๆ แน่นอน เพราะขันโตกถือว่าเป็นประเพณี และไฮไลท์ของการเยือนเมืองล้านนาเลยก็ว่าได้ วันนี้กระปุกดอทคอมจึงขอนำประวัติขันโตก ประเพณีมื้อเย็นของภาคเหนือมาให้คุณ ๆ ได้รู้จักกันมากขึ้น พร้อมแล้วก็ตามมาเลยจ้า
 

            แรกเริ่มเดิมทีสมัยก่อนชาวเหนือมักจะนิยมนั่งกินข้าวบนพื้น ซึ่งเป็นวัฒนธรรมการกินอาหารที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ แต่การวางอาหารบนพื้นโดยตรงอาจจะไม่เหมาะนัก ดังนั้นชาวล้านนาจึงคิดทำขันโตกขึ้นมาเพิ่มความสะดวกในการกินมากขึ้น โดยนำขันโตก หรือโตก (ภาษาล้านนาที่แปลว่าภาชนะสำหรับใส่อาหาร) ทำด้วยไม้ มีลักษณะกลมเหมือนถาด มีขาสูง มาทำหน้าที่คล้าย ๆ โต๊ะอาหาร จัดวางกับข้าวหลายชนิดลงไปให้ดูน่ากิน และพออิ่มหนำจากมื้อเย็นเรียบร้อยแล้ว ก็จะได้ยกขันโตกไปเก็บล้าง ประหยัดเวลา และสะดวกมากขึ้นด้วย

            ทั้งนี้ขันโตกของแต่ละบ้าน แต่ละชนชั้นฐานะก็จะแตกต่างกันไป หากเป็นเหล่าคหบดี หรือคนที่มีฐานะและยศศักดิ์ อาจจะดัดแปลงทำขันโตกด้วยเงิน ทองกาไหล่ หรือลงรักปิดทองเพื่อความสวยงาม และนำขันโตกออกมาใช้เพื่อต้อนรับแขกที่มาเยือนเท่านั้น เนื่องจากหารจัดขันโตกในแต่ละทีจะต้องมีอาหารครบครันหลากหลายประเภท ซึ่งดูจะสิ้นเปลืองเกินไปหากจะจัดสำรับใหญ่เช่นนี้ทุกวัน

            ส่วนประเพณีขันโตกของชาวล้านนานั้นไม่มีประวัติที่ระบุวันและเวลาที่เกิดประเพณีขันโตกขึ้นมาเป็นครั้งแรก เพียงแต่ได้แค่สันนิษฐานกันไปว่า อาจจะมีมาตั้งแต่สมัยเนิ่นนานมาแล้ว และเกือบจะสูญหายไปในคราวหนึ่ง หากในปีพ.ศ. 2496 นายไกรศรี นิมมานเหมินทร์ นายธนาคารและนักธุรกิจใหญ่ของภาคเหนือ ไม่นำประเพณีขันโตกมาเลี้ยงส่งแขกผู้ใหญ่ และชาวต่างชาติเพื่อสร้างความประทับใจขึ้นมาอีกครั้ง และในครั้งนั้นเองชาวล้านนาก็ยึดถือเอาประเพณีขันโตกมาเป็นประเพณีการต้อนรับแขกบ้านแขกเรือนที่มาเยี่ยมเยียนนับตั้งแต่บัดนั้น

            แต่นอกจากอาหารคาวหวาน เช่น น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกอ่อง ไส้อั่ว แคปหมู แกงฮังเล ลาบหมูคั่ว และผักสดแล้ว ถ้าอยากจะเข้าถึงประเพณีขันโตกจริง ๆ ก็ต้องสวมเสื้อม่อฮ่อม มองดูการแสดงฟ้อนเล็บไปพลาง ๆ ในขณะที่นั่งกินขันโตกไปด้วยนะคะ

            อย่างไรก็ดี ประเพณีขันโตกก็มีจุดมุ่งหมายอื่น ๆ นอกจากเพื่อต้อนรับแขกผู้มาเยือน เช่น ต้องการรักษาขนบธรรมเนียม ประเพณีอันดีงามของชาวล้านนา ฟื้นฟูการแต่งกายแบบพื้นเมือง การทำอาหารพื้นเมือง ส่งเสริมการท่องเที่ยว และส่งเสริมให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นประเพณีดีงาม น่ารักอบอุ่น พ่วงความอร่อยเด็ดอย่างนี้ ก็น่าสนับสนุนและดูแลรักษากันต่อไปตราบนานเท่านานนะจ๊ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
student.nu.ac.th,ประเพณีกินขันโตก,Blog Thai Custom


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ประวัติ ขันโตก ประเพณีกินมื้อเย็นของภาคเหนือ อัปเดตล่าสุด 24 เมษายน 2557 เวลา 16:44:18 43,731 อ่าน
TOP