ประวัติขนมลา ขนมประจำเทศกาลบุญสารทเดือนสิบของชาวใต้
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขนมลา หรือขนมที่มีลักษณะเป็นเส้นสีทองบาง ๆ จับกลุ่มรวมกันเหมือนผ้าแพรผืนหนา เป็นขนมหวานที่มีถิ่นกำเนิดจากภาคใต้ของประเทศไทย แต่ก็สามารถหากินได้ในทุกจังหวัด และด้วยรสชาติ รวมทั้งหน้าตาที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร จึงทำให้ขนมลาเป็นที่ขนมโปรดของคนจำนวนไม่น้อย วันนี้กระปุกดอทคอมเลยนำประวัติความเป็นมาของขนมลา มาให้คุณ ๆ ได้รู้จักขนมลาผืนนี้กันให้มากขึ้นกันค่ะ
ขนมลา เป็นหนึ่งในขนม 5 ชนิด ที่ชาวใต้จะนำไปทำบุญในช่วงเทศกาลบุญสารทเดือนสิบ ซึ่งเป็นประเพณีทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว หรือที่เรียกว่า "บุพเปตพลี" โดยมีความเชื่อว่า บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว อาจจะตกไปอยู่ในภพภูมิที่ดี หรือภพภูมิที่เจอแต่ความยากลำบาก ต้องชดใช้วิบากกรรม ดังนั้นเทศกาลบุญสารทเดือนสิบจึงเปรียบเสมือนตัวแทนขนส่งบุญกุศล อาหาร เครื่องดื่ม และข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว
โดยนอกจากอาหาร และข้าวของทำบุญอื่น ๆ แล้ว ขนมประจำประเพณีที่ชาวบ้านต้องเตรียมก็ได้แก่ ขนมลา, ขนมพอง, ขนมกง หรือขนมไข่ปลา, ขนมบ้า และขนมดีซำ ซึ่งขนมแต่ละชนิดก็จะมีความหมายในตัวอย่าง ขนมลา ก็เป็นสัญลักษณ์แทนอาหารและแพรพรรณเครื่องนุ่งห่ม ขนมพอง เป็นสัญลักษณ์แทนแพให้วิญญาณบรรพบุรุษใช้ล่องข้ามห้วงมหรรณพ ขนมบ้า เป็นสัญลักษณ์แทนสะบ้า ให้วิญญาณบรรพบุรุษช้เล่นสะบ้าในวันสงกรานต์ ขนมกง หรือขนมไข่ปลา เป็นสัญลักษณ์แทนเครื่องประดับ และขนมดีซำ เป็นสัญลักษณ์แทนเงินเบี้ย สำหรับใช้สอยในภพภูมิที่วิญญาณบรรพบุรุษอยู่
อีกนัยหนึ่งขนมลาก็เป็นเส้นสายทับกันไปมาจนเหนียวแน่น คล้าย ๆ สายใยถักทอความผูกพันของบรรดาญาติพี่น้อง ให้สมัครสามัคคีรักใคร่กันกลมเกลียว เรียกได้ว่าทั้งได้รับความอร่อย และกระชับความสัมพันธ์คนในครอบครัวให้แนบแน่นตอลดเวลาที่ร่วมกันทำขนมลาด้วยจ้า
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
biogang.net, wikibooks.org