ทำไมถึงเรียกส้มตำ เรื่องแซ่บ ๆ น่ารู้ของอาหารอีสานจานเด็ด


        อยากรู้กันใช่ไหมว่า มะละกอตำทำไมถึงเรียกส้มตำ เรื่องราวน่าชวนหัวของเมนูอาหารอีสานจานเด็ด แล้วส้มตำมีต้นกำเนิดจากที่ไหน ? อยากรู้อะไรไม่ต้องถามอับดุลเอ๊ย ! มาส่องครกไขปัญหาคาใจกันเถอะ 

ส้มตำ

        ตอนเที่ยงเดินไปทางไหนก็เจอแต่ร้านส้มตำเสียงดังป๊อก ๆ แหม… ก็เป็นอาหารยอดฮิตของคนเมืองเขาน่ะสิ ไม่ว่าจะเป็นส้มตำไทย ส้มตำปู หรือส้มตำปลาร้า ก็แซ่บเหลือใจ ยิ่งกินกับข้าวเหนียวหรือเมนูปิ้งย่างก็อร่อยเหาะ (แอบน้ำลายไหล) ว่าแต่มีใครสงสัยไหมว่าเจ้าส้มตำที่เรากินบ่อย ๆ เนี่ยทำไมเขาถึงเรียกว่าส้มตำ ? ส้มตำมีต้นกำเนิดมาจากไหน ? ใครเป็นคนคิดส้มตำขึ้นมา ? ทำไมถึงมีหลากหลายเมนูส้มตำให้เลือก ? ทำไมและทำไม ? กระปุกดอทคอมไม่อยากให้เพื่อน ๆ มีคำถามค้างคาใจเลยไปสืบเสาะประวัติของส้มตำมาให้ทุกคนถึงบางอ้อ รวมถึงเกร็ดต่าง ๆ ที่น่าสนใจ รู้ไว้ใช่ว่าเนอะ

ส้มตำคืออะไร?


ทำไมถึงเรียกส้มตำ ?


         ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับคำว่า "ส้มตำ" กันก่อนค่ะ ส้มตำเป็นภาษาถิ่น คำว่า "ส้ม" หมายถึง รสเปรี้ยว ส่วนคำว่า "ตำ" เป็นกริยา หมายถึง การใช้สากหรือสิ่งอื่นที่คล้ายคลึงตำลงไปแรง ๆ เรื่อย ๆ และต่อเนื่อง คำว่า "ส้มตำ" เมื่อนำมารวมกันจึงหมายถึง อาหารรสเปรี้ยวที่ผ่านการตำ ทั้งนี้ทั้งนั้น การเรียกว่าส้มตำน่าจะเริ่มเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ หรือแถบภาคกลางลุ่มน้ำเจ้าพระยานี่แหละ เพราะถ้าลองเรียกสลับคำจาก "ส้มตำ" เป็น "ตำส้ม" ของวัฒนธรรมชาวลาวในภาคอีสาน หมายถึง ของกินชนิดหนึ่งที่เอาผักและผลไม้ต่าง ๆ เช่น มะม่วง มาตำผสมกับเครื่องปรุงและมีรสเปรี้ยวนำ เช่น ขนุนอ่อน มะม่วง มะยม เป็นต้น

ส้มตำ

ส้มตำมาจากไหน ?


          ส้มตำไม่ได้เป็นอาหารพื้นเมืองของภาคอีสานหรือของประเทศลาวหรอกนะคะ แต่แท้จริงแล้วเป็นอาหารสมัยใหม่ที่ถือกำเนิดมาราว 40 กว่าปีเท่านั้นเอง เนื่องจากวัตถุดิบอย่างมะละกอนำเข้ามาจากประเทศมาเลเซียในช่วงสงครามเวียดนาม ซึ่งในตอนนั้นรัฐบาลไทยให้สหรัฐอเมริกาเข้ามาตั้งฐานทัพ และได้มีการตัดถนนมิตรภาพเพื่อลำเลียงอุปกรณ์รบต่าง ๆ พร้อมทั้งได้นำเมล็ดพันธุ์มะละกอไปปลูกทั้งสองข้างถนนมิตรภาพ ด้วยเหตุนี้มะละกอจึงเข้าสู่ภาคอีสาน ต่อมาจึงแพร่หลายลงมาภาคกลาง อาจเนื่องมาจากชาวอีสานมาทำงานเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะเมืองกรุง 

ส้มตำมีอะไรบ้าง ?


ส้มตำ

          ส้มตำมีหลากหลายแบบให้เลือก ทั้งส้มตำไทย ไม่ใส่ปูและน้ำปลาร้า แต่ใส่กุ้งแห้งและถั่วลิสงคั่วแทน รสชาติออกหวานและเปรี้ยวนำ หรืออาจใส่ปูดองเค็มลงไปเรียกว่า ส้มตำไทยใส่ปู ส่วนส้มตำปูจะใส่ปูเค็มแทนกุ้งแห้งและถั่วลิสงคั่ว รสชาติออกเค็มนำ ใครที่ชอบกินปลาร้าต้องจัดส้มตำปลาร้า ใส่ปลาร้าแทนกุ้งแห้ง สำหรับคนที่ไม่อยากกินเส้นมะละกอ ขอแนะนำส้มตำซั่ว ใส่เส้นขนมจีนแทนเส้นมะละกอ อีกทั้งยังมีส้มตำป่า ใส่ผักหลายชนิด เช่น ผักกระเฉด ผักกาดดอง ปลากรอบ ถั่วลิสง ถั่วงอก ถั่วฝักยาว เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีส้มตำชนิดอื่น ๆ อีกเพียบตามแต่จะคิดสร้างสรรค์

          การกินส้มตำแล้วแต่สไตล์ของแต่ละคน อาจกินส้มตำกับผักสด เช่น กะหล่ำปลี ถั่วฝักยาว หรืออาจกินคู่กับไก่ย่าง ปลาดุกย่าง ตับปิ้ง แหนมปิ้ง แคบหมูด้วย ถ้าหากอยากอิ่มท้องก็เพิ่มข้าวเหนียว ขนมจีน เส้นเล็กลวก หรือเส้นหมี่ ทั้งนี้ สามารถปรุงรสเผ็ด เปรี้ยว เค็ม หรือหวานได้ตามชอบ ด้วยความหลากหลายของส้มตำและรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ รวมถึงการดัดแปลงให้ถูกปากตามความชอบ และในส่วนผสมแต่ละอย่างยังมีประโยชน์ นอกจากคนไทยจะได้ดื่มด่ำไปกับความอร่อยของส้มตำแล้ว ปัจจุบันส้มตำได้แพร่หลายออกไปยังต่างประเทศจนกลายเป็นอาหารนานาชาติอีกด้วย เป็นที่น่าชื่นใจจริง ๆ นะคะ เอาล่ะ… เที่ยงแล้ว หาส้มตำกินกันเถอะ 

บทความที่เกี่ยวข้องกับส้มตำ


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ทำไมถึงเรียกส้มตำ เรื่องแซ่บ ๆ น่ารู้ของอาหารอีสานจานเด็ด อัปเดตล่าสุด 27 ตุลาคม 2566 เวลา 17:52:38 42,833 อ่าน
TOP
x close