ข้าว ถือเป็นอาหารหลักของชาวเอเชียที่มีมายาวนานกว่า 13,500 ปีมาแล้ว ปลูกขึ้นครั้งแรกที่ประเทศจีน และขยายไปทั่วในทวีปเอเชียและทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยด้วย ปัจจุบันมีสายพันธุ์ข้าวมากกว่า 40,000 สายพันธุ์ ซึ่งข้าวที่เป็นที่นิยมในการบริโภคคือ ชนิดอินดิกาที่เป็นข้าวเจ้าของไทย และชนิดจาโปนิกา หรือข้าวญี่ปุ่น นั่นเอง
ข้าวชนิดอินดิกา หรือข้าวเจ้าของไทย มีลักษณะเด่นคือ เมล็ดข้าวเรียว ยาว หุงแล้วร่วน ไม่เกาะติดกัน เมื่อหุงสุกจะมีกลิ่นหอม
ในขณะที่ข้าวชนิดจาโปนิกา หรือข้าวญี่ปุ่น เมล็ดข้าวจะมีลักษณะสั้นกว่าชนิดอินดิกา แต่อวบอ้วน เกือบเป็นทรงกลม เมื่อหุงสุกจะมีความหนึบ เกาะตัวกันคล้ายข้าวเหนียว และมีความหวานตามธรรมชาติที่เป็นเอกลักษณ์ ทำให้ง่ายต่อการทำเมนูอาหารประเภทข้าวปั้นหรือซูชิ แบ่งตามขนาดของเม็ดข้าวได้ 2 ประเภท คือ ขนาดกลางและขนาดสั้น แต่แบบที่ที่นิยมมากกว่าคือ ข้าวญี่ปุ่นแบบเมล็ดสั้นวิธีการหุงข้าวญี่ปุ่นแบบตั้งหม้อบนเตา
-
ตวงข้าว 2 ถ้วยใส่ลงในอ่าง ใช้น้ำเย็นล้างซาวข้าว 1-2 นาที หรือ 3-4 รอบ จนกว่าน้ำจะใส จากนั้นเทน้ำทิ้ง พักข้าวทิ้งไว้ให้สะเด็ดน้ำ
-
เติมน้ำสะอาดใส่ข้าวที่ซาวแล้ว แช่ทิ้งไว้ 30 นาที
-
รินน้ำที่แช่ข้าวออกให้หมด นำข้าวใส่หม้อ จากนั้นเติมน้ำ 2+1/2 ถ้วย เกลี่ยข้าวให้ทั่ว
-
นำไปตั้งเตา โดยใช้ไฟแรง ไม่ต้องปิดฝา เมื่อเริ่มเดือดให้ลดเป็นไฟกลางค่อนอ่อน แล้วปิดฝา ต้มต่อประมาณ 18-20 นาที หรือจนกว่าน้ำจะระเหยหมด
-
เมื่อข้าวสุกดีตามเวลาให้ปิดไฟ แล้วทิ้งไว้บนเตาประมาณ 10-15 นาที โดยไม่ต้องเปิดฝา จากนั้นจึงใช้ช้อนไม้หรือทัพพีพลาสติกค่อย ๆ ซุยข้าว 2-3 ครั้ง
วิธีหุงข้าวญี่ปุ่นด้วยหม้อหุงข้าวไฟฟ้า
-
ใช้ถ้วยตวงที่อยู่ในหม้อหุงข้าวตวงข้าว 2 ถ้วยใส่ลงในอ่างหรือถ้วยสำหรับล้างข้าว ใช้น้ำเย็นล้างซาวข้าว 1-2 นาที หรือ 3-4 รอบ จนกว่าน้ำจะใส จากนั้นเทน้ำทิ้ง พักข้าวทิ้งไว้ให้สะเด็ดน้ำ
-
นำข้าวใส่หม้อ จากนั้นเติมน้ำ 2+1/2 ถ้วย เกลี่ยข้าวให้ทั่ว จากนั้นเช็ดขอบและก้นหม้อให้แห้งก่อนนำไปหุง
-
แช่ข้าวทิ้งไว้ประมาณ 15-30 นาที
-
ปิดฝาแล้วเลือกฟังก์ชันหุงข้าว กดปุ่มเริ่มทำงาน
-
เมื่อครบเวลาที่หม้อตั้งโปรแกรมไว้ ให้เปิดฝาและค่อย ๆ ใช้ไม้พายหรือช้อนไม้ตักซุยข้าวประมาณ 2-3 ครั้ง
-
ในระหว่างที่ซาวข้าว ควรใช้ฝ่ามือขัดถูเมล็ดข้าวเบา ๆ เพื่อล้างฝุ่นและสิ่งสกปรกที่ติดอยู่ตามเมล็ดข้าว
-
การแช่ข้าวไว้ในน้ำสะอาด 30 นาที จะทำให้เมล็ดข้าวดูดซึมน้ำ ทำให้หุงออกมาสุกเสมอกัน และได้ข้าวสวยที่เหนียวนุ่ม
-
ถ้าเป็นการหุงแบบตั้งหม้อบนเตา ควรเลือกเป็นหม้อก้นหนาเล็กน้อย และไม่ควรเปิดฝาในระหว่างการหุง เพราะจะทำให้ไอน้ำไหลออกมาข้างนอก และข้าวจะสุกไม่ทั่วถึงกัน แต่ถ้าต้องการจะเช็กระดับน้ำ ให้แง้มฝาเพียงเล็กน้อย ไม่ควรเปิดฝาจนหมด
-
เมื่อข้าวหุงสุกใหม่ ๆ ไม่ควรคนหรือนวดข้าว เพราะจะทำให้เมล็ดข้าวแตกและหักได้
แม้จะเป็นข้าวเหมือนกัน แต่วิธีการหุงข้าวญี่ปุ่นก็แตกต่างกับข้าวเจ้าของไทยนะ ดังนั้นใครที่อยากกินข้าวญี่ปุ่นนุ่มฟูแสนอร่อย ลองเอาวิธีหุงที่เราแนะนำวันนี้ไปทำดูได้เลยค่ะ
สำหรับใครที่ชอบกลิ่นหอม ๆ ของข้าวที่เพิ่งหุงสุกใหม่ ไม่ว่าจะเป็นข้าวสวย ข้าวเหนียว หรือข้าวไรซ์เบอร์รี สามารถดูเพิ่มเติมได้ที่
- วิธีหุงข้าวด้วยไมโครเวฟ ได้ข้าวสวยร้อน ๆ พร้อมเสิร์ฟในพริบตา
- วิธีหุงข้าวเหนียวด้วยไมโครเวฟ ง่าย ๆ ใน 7 นาที
- วิธีนึ่งข้าวเหนียวดำให้อร่อย เหนียวนุ่มเม็ดสวย ถึงเย็นก็ยังนิ่ม
- วิธีนึ่งข้าวเหนียวอัญชัน เคล็ดลับอร่อยนุ่มสีสวยธรรมชาติ ใครก็ทำตามได้
- วิธีหุงข้าวไรซ์เบอร์รี อร่อยนุ่มนิ่มไม่แฉะ เก็บไว้กินได้นานเป็นเดือน