ไข่เจียวเห็ดเผาะ เมนูไข่ทอดกรอบเคี้ยวกรุบจากเห็ดพื้นบ้านประจำฤดูกาล

           แจกสูตรทำไข่เจียวเห็ดเผาะ เมนูไข่ง่าย ๆ จากวัตถุดิบพื้นบ้านประจำฤดูฝน โปะข้าวสวยร้อน ๆ กินกับน้ำจิ้มแจ่ว หรือน้ำพริก อร่อยเลย
สูตรไข่เจียวเห็ดเผาะ

          เห็ดเผาะ เห็ดพื้นบ้านของชาวล้านนา ที่ 1 ปีมีครั้งเดียว ถือเป็นแรร์ไอเทมที่หลายคนรอคอย นำไปทำเมนูอาหารจากเห็ดเผาะได้หลากหลาย เช่น แกงคั่วเห็ดเผาะ คั่วเห็ดเผาะ ผัดเห็ดเผาะ แกงเห็ดเผาะ และอีกมากมาย วันนี้เราเลยมีเมนูง่าย ๆ อย่างไข่เจียวเห็ดเผาะ หั่นเห็ดเผาะเป็นชิ้น ๆ แล้วนำไปเจียวกับไข่ ทอดกรอบ ๆ หอม ๆ โปะบนข้าวสวยร้อน ๆ กินคู่กับแจ่วหรือน้ำปลาพริกก็แซ่บแล้ว

ลักษณะของเห็ดเผาะ

           เห็ดเผาะ หรือชาวล้านนาเรียกว่า เห็ดถอบ ชื่อภาษาอังกฤษคือ Thai Puff Ball Mushroom แหล่งกำเนิดอยู่ในป่า ขึ้นเองตามธรรมชาติ มีให้เก็บเฉพาะหน้าฝน ประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน เป็นอาหารพื้นบ้านเพื่อสุขภาพ ทำเป็นเมนูต่าง ๆ ทั้งต้ม แกง และผัด เห็ดเผาะมีลักษณะเป็นลูกกลม ๆ ไม่มีลำต้นและราก มีเปลือก 2 ชั้น โดยหากเป็นเห็ดอ่อนนั้นจะมีสีขาวนวล ห่อหุ้มด้วยสปอร์ แต่หากเป็นดอกแก่จะมีเปลือกเป็นสีน้ำตาลหรือดำ พบมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือของประเทศไทย
ลักษณะของเห็ดเผาะ

ประโยชน์ของเห็ดเผาะ

           เห็ดเผาะมีแร่ธาตุและสารอาหารหลายชนิด เช่น โปรตีน ไขมันดี ฟอสเฟต แคลเซียม ธาตุเหล็ก ไนอะซิน วิตามินบี วิตามินบี 2 และวิตามินซี เป็นต้น ช่วยล้างสารพิษ บำรุงร่างกาย บรรเทาอาการโรคกระเพาะอาหาร แก้อาการร้อนใน รักษาอาการช้ำใน ช่วยในการสมานแผล ลดอาการบวมหรืออักเสบ ช่วยให้เลือดแข็งตัวได้เร็ว

การเลือกซื้อเห็ดเผาะ

          เห็ดเผาะสดจะต้องไม่แช่หรือล้างน้ำมาก่อน ถ้าใครชอบแบบเคี้ยวกรุบ ๆ ควรเลือกเห็ดอ่อนหรือเห็ดหนุ่ม ส่วนใหญ่จะเป็นเห็ดลูกเล็ก ๆ โดยมองที่เปลือกภายนอกสีจะออกขาว ๆ ไล่ไปจนถึงน้ำตาลอ่อน เคี้ยวแล้วไส้ในจะมีน้ำเห็ดไหลอยู่ในปาก ถ้าหากชอบแบบเนื้อเหนียวควรเลือกเห็ดแก่ ลูกจะใหญ่หน่อย นับเป็นระยะสุดท้ายของเห็ด เปลือกภายนอกสีจะออกน้ำตาลดำ เมื่อเอานิ้วบีบลงไปจะรู้สึกถึงความแข็งและเหนียวได้อย่างชัดเจน

การเก็บรักษาเห็ดเผาะ

           ถ้าหากซื้อเห็ดเผาะมาแล้วยังไม่ทำอาหารอย่าเพิ่งล้างเพราะจะทำให้เห็ดเสียได้ง่าย ควรห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์แล้วแช่ตู้เย็นไว้ หรืออาจจะล้างทำความสะอาด เอาดินที่ติดอยู่ออกมาให้หมด จากนั้นจึงนำไปต้มในน้ำเกลือ ต้มจนสุกน้ำเดือดทิ้งไว้สักครู่ จากนั้นรีบตักเห็ดที่ยังร้อนอยู่ไปแช่ในน้ำเย็นจัดเพื่อความกรอบของเห็ด เอาขึ้นมาสะเด็ดน้ำ นำไปใส่ถุงพลาสติก แบ่งเก็บไว้หลาย ๆ ถุง แต่ละถุงพอกิน 1 มื้อ แช่ไว้ในช่องฟรีซเก็บไว้ได้นานค่ะ

วิธีการล้างเห็ดเผาะ

           ถ้าซื้อมาปริมาณน้อยก็เอาไปล้างน้ำ โดยอาจหาภาชนะปิดฝา เขย่าไปเรื่อย ๆ จนดินออกหมด หรือเอาเห็ดเผาะใส่ตะกร้า เปิดน้ำก๊อกแรง ๆ ให้น้ำไหลผ่านเห็ด พวกทรายหรือกรวดก้อนเล็ก ๆ จะลอดตะกร้าพลาสติกออกไป เอามือสรงเบา ๆ ถ้าหากซื้อมาหลายกิโลก็เอาไปล้างในเครื่องซักผ้าก็ได้เช่นกัน โดยเปิดฝาไว้และใช้มือสรงน้ำไปด้วย พอสะอาดก็ตักขึ้นมาสะเด็ดน้ำ รอทำอาหารต่อไป

สูตรไข่เจียวเห็ดเผาะ

ส่วนผสม ไข่เจียวเห็ดเผาะ

  1. ไข่ไก่ 2-3 ฟอง

  2. เผ็ดเผาะ

  3. ใบโหระพา

  4. น้ำปลา

  5. น้ำมันพืช (สำหรับทอด)

วิธีทำไข่เจียวเห็ดเผาะ

  1. ล้างเห็ดเผาะให้สะอาด ผ่าครึ่งหรือสไลซ์เห็ดเป็นชิ้นบาง ๆ เตรียมไว้

  2. ตอกไข่ไก่ใส่ชาม ตีพอเข้ากัน ใส่เห็นเผาะลงไป ปรุงรสด้วยน้ำปลา ตีผสมให้เข้ากันอีกครั้ง

  3. ใส่น้ำมันพืชลงในกระทะ เปิดไฟ รอจนน้ำมันร้อน แล้วเทส่วนผสมไข่ลงไปทอดจนสุกกรอบทั้ง 2 ด้าน ตักขึ้นสะเด็ดน้ำมัน พร้อมเสิร์ฟ

วิธีทอดไข่เจียวให้อร่อย

วิธีทอดไข่เจียว

           การทอดไข่เจียวให้อร่อย ต้องเลือกไข่ที่สดใหม่ ใช้ภาชนะให้เหมาะสมในการทอด ไม่ว่าจะเป็นกระทะหรือหม้อ โดยต้องนำไข่ลงไปทอดตอนที่น้ำมันร้อนแล้ว จะทำให้ไข่ไม่ติดกระทะและไม่อมน้ำมันอีกด้วย รวมไปถึงต้องกลับด้านให้สุกทั่วทั้ง 2 ด้าน พร้อมตักเสิร์ฟ จะกินคู่กับซอสพริกหรือซอสมะเขือเทศก็ยิ่งอร่อย

วิธีการทอดไข่เจียวแบบต่าง ๆ

     1. ทอดไข่เจียวแบบหนานุ่ม

          ใช้หม้อในการทอดไข่ โดยเลือกหม้อขนาดเล็ก เพราะจะทำให้ไข่หนาฟูได้ง่าย และใช้ไฟกลางค่อนไปทางอ่อนจะทำให้ไข่สุกสีสวย

     2. ไข่เจียวแบบกรอบฟู

          นำไข่ไปทอด โดยเทไข่ผ่านกระชอนจะทำให้ไข่ขึ้นฟูสวย และใช้ไฟปานกลางค่อนไปทางแรงในการทอด บางสูตรอาจบีบมะนาวลงไปเล็กน้อยเพื่อให้ไข่ฟูง่าย

     3. ไข่เจียวแบบกรอบนอกนุ่มใน

          ใส่นมสดหรือนมข้นจืดลงไปในไข่เล็กน้อย จะทำให้ไข่มีความนุ่มและมีกลิ่นหอมเพิ่มขึ้น รวมทั้งใช้ไฟปานกลางค่อนไปทางแรงในการทอดไข่

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเห็ดเผาะ และการทอดไข่เจียว

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไข่เจียวเห็ดเผาะ เมนูไข่ทอดกรอบเคี้ยวกรุบจากเห็ดพื้นบ้านประจำฤดูกาล อัปเดตล่าสุด 5 มิถุนายน 2567 เวลา 23:51:47 12,342 อ่าน
TOP
x close