แชร์วิธีคั้นใบย่านาง คั้นอย่างไรได้บ้าง ถ้าต้มใบย่านางต้องใส่อะไร พร้อมประโยชน์และเมนูที่น่าสนใจ
ใบย่านาง สมุนไพรพื้นบ้านไทยที่มีประโยชน์ สามารถนำมาคั้นเอาน้ำเพื่อใช้ทำอาหารและเครื่องดื่ม แม้น้ำใบย่านางจะมีขายทั่วไป แต่ถ้าใครอยากคั้นเองก็ได้เช่นกัน วันนี้เราขอนำเสนอวิธีคั้นใบย่านาง แล้วถ้าคั้นเสร็จแล้วแช่เย็นได้ไหม และมีสรรพคุณอะไรบ้าง
ใบย่านางมีประโยชน์อย่างไร
-
มีฤทธิ์เย็น ช่วยลดความร้อนในร่างกาย เพิ่มความสดชื่นกระปรี้กระเปร่า ปรับสมดุลในร่างกาย
-
ช่วยบรรเทาอาการท้องผูก รักษาโรคกระเพาะอาหาร ลำไส้อักเสบ
-
ช่วยป้องกันและรักษาโรคหอบหืด
-
ช่วยในการบำรุงสายตาและรักษาโรคเกี่ยวกับตา
-
ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด
-
ช่วยลดกรดยูริก ป้องกันการเกิดโรคเกาต์
ต้มใบย่านางใส่อะไรบ้าง
ต้มใบย่านางจะใส่ใบเตยเพื่อช่วยดับกลิ่นเหม็นเขียว แล้วนำไปทำเครื่องดื่มหรือเมนูอาหารอื่น ๆ ต่อไป และอาจเติมน้ำเชื่อมเพื่อเพิ่มรสชาติ
น้ำใบย่านางทําอะไรได้บ้าง
น้ำใบย่านางสามารถทำเป็นอาหารคาวได้ เช่น แกงเห็ดน้ำใบย่านาง หน่อไม้ต้มใบย่านาง ซุบหน่อไม้ แกงเปรอะ แกงขนุน แกงขี้เหล็ก เป็นต้น และยังนำมาทำเครื่องดื่มสมุนไพรได้อีกด้วย
น้ำใบย่านางเก็บในตู้เย็นได้กี่วัน
น้ำใบย่านางถ้าคั้นแล้วควรดื่มทันที ไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 4 ชั่วโมง เนื่องจากรสชาติจะเปลี่ยน แต่ถ้าต้องการเก็บในตู้เย็นไม่ควรเกิน 3-5 วัน
วิธีคั้นใบย่านาง
วิธีที่ 1
-
ต้มน้ำกับใบเตยจนเดือด ยกลงจากเตา พักทิ้งไว้จนอุ่น เตรียมไว้
-
หั่นใบย่านางเป็นชิ้นเล็ก ๆ ใส่ลงในเครื่องปั่น ตามด้วยน้ำใบเตย ปั่นจนละเอียด จากนั้นกรองเอาเฉพาะน้ำ
วิธีที่ 2
-
หั่นใบย่านางเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วเอามาตำพอแหลก เติมน้ำต้มสุก จากนั้นกรองเอาเฉพาะน้ำ
วิธีที่ 3
-
ขยำกับน้ำเปล่าจนได้น้ำสีเขียวและใบสีซีดลง
เมนูจากใบย่านาง
1. น้ำใบย่านาง (สูตรไม่มีน้ำตาล)
น้ำใบย่านางสูตรนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ชอบความหวาน ไม่กลัวเหม็นเขียว แต่ดื่มง่ายเพราะจะมีกลิ่นของใบเตยหอม ๆ ด้วย
ส่วนผสม น้ำใบย่านาง (สูตรไม่มีน้ำตาล)
-
ใบย่านาง 50-100 กรัม (ตามความเข้มข้นที่ต้องการ)
-
ใบเตย 5 ใบ
-
น้ำ 3 ถ้วย
วิธีทำน้ำใบย่านาง (สูตรไม่มีน้ำตาล)
-
ต้มน้ำกับใบเตยจนเดือด ยกลงจากเตา พักทิ้งไว้จนอุ่น เตรียมไว้
-
หั่นใบย่านางเป็นชิ้นเล็ก ๆ ใส่ลงในเครื่องปั่น ตามด้วยน้ำใบเตย ปั่นจนละเอียด จากนั้นกรองเอาเฉพาะน้ำ ตักใส่แก้วพร้อมดื่ม หรือเทใส่ขวดแล้วนำไปแช่เย็นก่อนดื่ม
2. น้ำใบย่านาง (สูตรหวาน)
ใครคิดว่าไม่สามารถดื่มน้ำใบย่านางแบบต้นตำรับได้ ลองเติมความหวานกันดู เลือกได้เลยว่าจะใส่น้ำเชื่อม น้ำผึ้ง หรือน้ำหวาน
ส่วนผสม น้ำใบย่านาง (สูตรหวาน)
-
ใบย่านาง 50-100 กรัม (ตามความเข้มข้นที่ต้องการ)
-
ใบเตย 5 ใบ
-
น้ำ 3 ถ้วย
-
น้ำเชื่อม น้ำผึ้ง หรือน้ำหวานกลิ่นที่ชอบ
วิธีทำน้ำใบย่านาง (สูตรหวาน)
-
ต้มน้ำกับใบเตยจนเดือด ยกลงจากเตา พักทิ้งไว้จนอุ่น เตรียมไว้
-
หั่นใบย่านางเป็นชิ้นเล็ก ๆ ใส่ลงในเครื่องปั่น ตามด้วยน้ำใบเตย ปั่นจนละเอียด จากนั้นกรองเอาเฉพาะน้ำ ตักใส่แก้ว เติมน้ำเชื่อมลงไป ชิมรสตามชอบ พร้อมดื่ม หรือเทใส่ขวดแล้วนำไปแช่เย็นก่อนดื่ม
3. แกงหน่อไม้ใบย่านาง
แกงหน่อไม้ใบย่านาง ใส่สารพัดผักและเห็ด เติมความนัวจากข้าวเบื่อ มีรสเผ็ดจากพริกสด หอมใบแมงลักกับชะอม
ส่วนผสม แกงหน่อไม้ใบย่านาง
-
ใบย่านาง
-
พริกสด หรือพริกแห้ง ปริมาณตามชอบ
-
หอมแดง
-
ข้าวเหนียวดิบแช่น้ำ 1/4 ถ้วย
-
หน่อไม้สด หรือหน่อไม้ลวก หั่นเป็นชิ้น ต้มสุก
-
ผักตามชอบ (เช่น ฟักทอง ข้าวโพดอ่อน กระเจี๊ยบเขียว)
-
เห็ดตามชอบหั่นเป็นชิ้น (เช่น เห็ดหูหนู เห็ดขอนขาว เห็ดชิเมจิ เห็นฟาง)
-
ชะอมเด็ด
-
ใบแมงลักเด็ดเป็นใบ
-
น้ำปลาร้า (ใส่หรือไม่ใส่ก็ได้)
วิธีทำแกงหน่อไม้ใบย่านาง
-
นำใบย่านางมาขยำกับน้ำ จากนั้นกรองเอาเฉพาะน้ำ เตรียมไว้
-
โขลกพริกสดกับหอมแดงและข้าวเหนียวแช่น้ำเข้าด้วยกันจนละเอียด เตรียมไว้
-
ใส่น้ำใบย่านางลงในหม้อ นำขึ้นตั้งไฟ ใส่เครื่องที่โขลกไว้และตะไคร้ทุบลงไปคนผสมให้เข้ากัน รอจนเดือด ใส่หน่อไม้ต้มสุกลงไป คนผสมให้เข้ากัน รอจนเดือดอีกครั้ง
-
ใส่ผักสดและเห็ดลงไปต้ม ปรุงรสด้วยน้ำปลาร้า (สามารถเพิ่มพริกทุบลงไปเพิ่มความเผ็ดได้) ชิมรสตามชอบ ต้มจนเดือดอีกครั้ง สุดท้ายใส่ชะอมและใบแมงลัก คนพอเข้ากัน
จบไปแล้วสำหรับวิธีคั้นใบย่านาง ใครสะดวกแบบไหนลองทำตามสไตล์ได้เลย จะนำมาประกอบอาหารหรือทำเป็นเครื่องดื่มก็อร่อย
บทความเกี่ยวกับเมนูใบย่านางและเครื่องดื่มสมุนไพรที่น่าสนใจ
ขอบคุณข้อมูลจาก : medthai.com