6 สูตรขนมไทยเชื่อม เนื้อเงาวับหวานฉ่ำน้ำเชื่อมใครก็ทำได้


          เอาใจคนชอบความหวานแบบไทย ๆ ด้วยขนมเชื่อม 6 แบบ ขนมไทยหวานฉ่ำ เคล็ดลับใช้น้ำตาลช่วยถนอมอาหาร เก็บไว้กินได้นาน สะอาด ปลอดภัย ไร้สารกันบูด 

ขนมไทยเชื่อม

          ขนมไทยเชื่อม หรือขนมเชื่อมสด เป็นตัวเลือกอันดับต้น ๆ สำหรับคนต้องการถนอมอาหารเพื่อเก็บไว้กินได้นาน ๆ เลยนะคะ ถ้าหากซื้อผลไม้อย่างขนุนหรือสาเกมาเยอะแล้วคาดคะเนว่ากินไม่หมดแน่นอนก็จับมาทำผลไม้เชื่อมได้นะคะ คือขนุนเชื่อม หรือสาเกเชื่อมก็ได้ สำหรับเพื่อน ๆ ที่สนใจวิธีทำของเชื่อม กระปุกดอทคอมขอนำเสนอ 6 วิธีทำขนมเชื่อม ได้แก่ มันสำปะหลังเชื่อม ทุเรียนเชื่อม ฟักทองเชื่อม กล้วยไข่เชื่อม กล้วยน้ำว้าเชื่อมสีแดง และจาวตาลเชื่อม เอาล่ะ… เพื่อไม่ให้เสียเวลาเข้าครัวกันเลยดีกว่าจ้า


1. ขนมมันสำปะหลังเชื่อม


ขนมไทยเชื่อม

          ขนมเชื่อมเมนูแรกที่คุ้นเคยคือ มันสำปะหลังเชื่อม วิธีทำแสนง่าย จับมันสำปะหลังหั่นชิ้นให้เรียบร้อยแล้วนำไปเคี่ยวกับน้ำตาลจนขึ้นเงา ปิดท้ายด้วยการราดกะทิก่อนเสิร์ฟ ถ้ากินไม่หมดก็แช่เย็น หรือเก็บไว้ในภาชนะปิดมิดชิดวางไว้ที่อุณหภูมิห้องก็ได้ค่ะ ถ้ารู้สึกว่าอยากกินของหวานเมื่อไรก็แวะมาเปิดกินวันละชิ้น แป๊บเดียวก็หมด

ส่วนผสม มันสำปะหลังเชื่อม

          • มันสำปะหลัง 1 หัว
          • น้ำตาลทราย 2 ถ้วย
          • น้ำลอยดอกมะลิ 5 ถ้วย (หรือน้ำผสมกลิ่นมะลิ)

ส่วนผสม กะทิสำหรับราด


          • หัวกะทิ 1 ถ้วย
          • แป้งข้าวโพด 1/2 ช้อนโต๊ะ
          • เกลือป่น 1/4 ช้อนชา

วิธีทำมันสำปะหลังเชื่อม


          1. หั่นมันสำปะหลังเป็นท่อนสั้น ๆ ปอกเปลือกแล้วล้างให้สะอาด เตรียมไว้
          2. ใส่น้ำตาลทรายลงในกระทะเทฟลอน (หรือกระทะทองเหลืองถ้ามี) ตามด้วยน้ำลอยดอกมะลิ ใช้ไฟกลางเคี่ยวจนน้ำตาลทรายละลายหมด
          3. เมื่อน้ำเชื่อมเดือดแล้วใส่มันสำปะหลังลงไปต้มจนมันเริ่มสุกบางส่วนแล้วลดเป็นไฟอ่อน จากนั้นเชื่อมมันไปเรื่อย ๆ ประมาณ 1-2 ชั่วโมง (ขึ้นอยู่กับขนาดของมันสำปะหลังที่เราหั่น) จนน้ำเชื่อมซึมเข้าไปในเนื้อมัน และเนื้อมันมีลักษณะใส ปิดไฟ พักไว้
          4. ทำกะทิสำหรับราดโดยละลายแป้งข้าวโพดกับหัวกะทิเล็กน้อย ใส่เกลือป่นลงไปคนให้แป้งละลายหมดแล้วนำขึ้นตั้งไฟอ่อนคนไปเรื่อย ๆ จนส่วนผสมข้นและเหนียว ปิดเตา พักไว้จนเย็น
          5. ตักมันสำปะหลังเชื่อมใส่ถ้วย ราดด้วยกะทิ พร้อมเสิร์ฟ

++++++++++++++++++++

2. ทุเรียนเชื่อม


ขนมไทยเชื่อม

          หน้าทุเรียนทีไรต้องซื้อมาตุนไว้ บ่อยครั้งที่กินไม่หมดก็ทิ้ง แอบรู้สึกเสียดายเลยอยากทำขนมเชื่อมเก็บไว้กินนาน ๆ สำหรับเพื่อน ๆ ที่อยากทำทุเรียนเชื่อม ขอยกตัวอย่างสูตรจาก คุณน้องอิง_มนุษย์เหงือก สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม สูตรนี้กลิ่นทุเรียนไม่แรง เนื้อเหนียวแน่นหนึบหนับ เก็บไว้กินได้หลายวันทั้งในอุณหภูมิห้องและในตู้เย็นอีกด้วย

ส่วนผสม ทุเรียนเชื่อม

          • ทุเรียนหมอนทองไม่สุก
          • น้ำปูนใส
          • น้ำเปล่า
          • น้ำสะอาด 4 ถ้วยตวง
          • น้ำตาลทราย 500 กรัม

วิธีทำทุเรียนเชื่อม

          1. เอาเมล็ดทุเรียนออก แช่น้ำปูนใสทิ้งไว้ 30 นาที รอครบกำหนดเอาขึ้นมาล้างน้ำเปล่าและวางไว้ให้สะเด็ดน้ำบนกระชอน
          2. ตั้งหม้อใส่น้ำสะอาดและน้ำตาลทรายลงไปต้มใช้ไฟแรง ต้มประมาณ 15 นาที
          3. ใส่เนื้อทุเรียนลงไป รอจนทุเรียนสุก ตักใส่ภาชนะ วางพักทิ้งไว้ให้เย็น พร้อมเสิร์ฟ

          + ดูวิธีทำเพิ่มเติมได้ที่ วิธีทำทุเรียนเชื่อม ขนมไทยประยุกต์หวานอร่อย กลิ่นไม่แรง

++++++++++++++++++++

3. ฟักทองเชื่อม


ขนมไทยเชื่อม

          เพื่อน ๆ คงคุ้นเคยกับฟักทองแกงบวดใช่ไหมคะ ลองเปลี่ยนแนวมาทำเมนูฟักทองเชื่อมกันดีกว่า ส่วนผสมหลัก ๆ มีแค่ฟักทองกับน้ำตาลทราย เพิ่มกลิ่นหอมจากใบเตย ใครยังไม่เคยกินลองทำดูค่ะ รับรองว่าติดใจแน่นอน

ส่วนผสม ฟักทองเชื่อม

          • ฟักทอง 1/2 ลูก (เลือกที่เนื้อแน่นจะทำให้ฟักทองเชื่อมมีเนื้อเหนียว)
          • น้ำตาลทราย 2 ถ้วยตวง
          • น้ำเปล่า 2 ถ้วยตวง
          • ใบเตย 5 ใบ

วิธีทำฟักทองเชื่อม

          1. หั่นฟักทองออกเป็นชิ้นหนา ๆ ใช้มีดคว้านไส้ออกให้สวยงาม (ถ้ามีน้ำปูนใสให้นำฟักทองไปแช่ทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที จากนั้นนำมาล้างน้ำให้สะอาดแล้วสะเด็ดน้ำเตรียมไว้)
          2. ใส่น้ำตาลทรายลงในหม้อเชื่อม ตามด้วยน้ำเปล่า และใบเตย นำขึ้นตั้งไฟอ่อนคนให้น้ำตาลทรายละลายหมด
          3. ใส่ฟักทองลงไปในหม้อแล้วเร่งเป็นไฟแรงสุด จากนั้นรอจนเดือดแล้วลดเป็นไฟอ่อน (ใช้ความร้อนแค่พอเดือดปุด ๆ) เชื่อมฟักทองไปเรื่อย ๆ (ไม่ต้องคนเพราะจะทำให้น้ำตาลเกาะกันเป็นก้อน) ประมาณ 1 ชั่วโมง และหมั่นตักน้ำเชื่อมในหม้อราดลงบนชิ้นฟักทองที่ไม่โดนน้ำเชื่อมด้วย เชื่อมจนฟักทองสุกและใส ปิดไฟ พักไว้จนเย็น ตักใส่จาน พร้อมเสิร์ฟ

          + ดูวิธีทำเพิ่มเติมได้ที่ 9 เมนูฟักทอง เมนูสีเหลืองหลากหลายความอร่อย

++++++++++++++++++++


4. กล้วยไข่เชื่อม


ขนมไทยเชื่อม

          เย้ย ! คุณสามีซื้อกล้วยไข่มาหลายหวีแบบนี้กินเป็นอาทิตย์ก็ไม่หมด ถ้าอย่างนั้นเอามาทำกล้วยไข่เชื่อมสูตรจากครัวบ้านพิม สูตรขนมเชื่อมนี้ใช้กล้วยไข่ห่าม เนื้อจะไม่นิ่มมาก แต่ก็หวานฉ่ำ สำหรับคนที่ชอบกินแบบนิ่ม ๆ ให้ใช้กล้วยไข่สุกเหลืองค่ะ

ส่วนผสม กล้วยไข่เชื่อม

          • กล้วยไข่ห่าม ๆ 2 หวี
          • น้ำตาลทรายขาว 450 กรัม
          • น้ำสะอาด 400 กรัม

ส่วนผสม กะทิสำหรับราด


          • หัวกะทิ 2 ถ้วย
          • เกลือป่น (หยิบมือ)
          • แป้งสาลีอเนกประสงค์ 1 ช้อนโต๊ะ + 1/2 ช้อนโต๊ะ

วิธีทำกล้วยไข่เชื่อม


          1. ปอกเปลือกกล้วยไข่ออก ดึงเส้นดำออกให้หมด ตัดหัว-ท้ายเล็กน้อยเพื่อความสวยงาม แช่ไว้ในน้ำผสมเกลือนิดหน่อย เพื่อไม่ให้กล้วยเปลี่ยนเป็นสีคล้ำ ๆ (แต่ถ้าหากปอกแล้วเชื่อมเลย ก็ไม่ต้องแช่)
          2. ผสมน้ำกับน้ำตาลทรายเข้าด้วยกันแล้วนำไปตั้งไฟ คนให้ละลาย (จะได้เป็นน้ำเชื่อม) แล้วนำมาลงกรองด้วยผ้าขาวบางหรือกระชอนตาถี่ ๆ ครั้งหนึ่ง
          3. จากนั้นก็เทใส่กลับคืนหม้อ แล้วนำไปตั้งไฟเคี่ยวต่อเรื่อย ๆ (แรก ๆ ตอนน้ำเชื่อมยังใสอยู่ เราจะเห็นว่าฟองตอนเดือดเขาจะเป็นฟองค่อนข้างใหญ่ แต่เมื่อยิ่งน้ำเชื่อมข้นมากขึ้นเท่าไหร่ ฟองก็จะยิ่งเล็กลงค่ะ) เคี่ยวจนน้ำเชื่อมให้ลดลงไปประมาณ 1/4 ก็จะได้น้ำเชื่อมที่มีความเหนียวได้ที่
          4. นำกล้วยไข่ลงไปเชื่อม ใช้ไฟกลาง ๆ ค่อนมาทางอ่อน (เพื่อค่อย ๆ ให้น้ำเชื่อมซึมเข้าไปในเนื้อกล้วย พร้อมกับความร้อนจากน้ำเชื่อมที่จะทำให้กล้วยค่อย ๆ ระอุ และก็สุกในที่สุดพร้อม ๆ กับซึมซับน้ำเชื่อมได้เต็มที่)
          5. ตักใส่จาน ราดกะทิ พร้อมเสิร์ฟ
 
วิธีทำกะทิสำหรับราดหน้า

          วิธีที่ 1 : สำหรับหัวกะทิที่คั้นโดยไม่ใช้น้ำ ให้เอาหัวกะทิผสมเกลือป่นเล็กน้อยแล้วนำไปตั้งไฟอ่อนคนไปเรื่อย ๆ จนกะทิข้นขึ้น

          วิธีที่ 2 : สำหรับหัวกะทิที่คั้นแบบใส่น้ำ หรือกะทิกล่อง ให้เอาหัวกะทิ 2 ถ้วย ผสมกับแป้งสาลีอเนกประสงค์ 1 ช้อนโต๊ะ + 1/2 ช้อนโต๊ะ และเกลือป่นหยิบมือ (ใส่พอให้มีรสเค็มปะแล่ม ๆ) คน ๆ ให้แป้งละลายเข้ากับหัวกะทิก่อน แล้วค่อยนำไปตั้งไฟกลาง ๆ ระหว่างตั้งไฟก็ใช้ตะกร้อมือคนเรื่อย ๆ จนกระทั่งแป้งสุกและกะทิข้น พอกะทิสุกข้นแล้วก็ยกลงจากเตา ตั้งพักไว้ให้เย็น

          + ดูวิธีทำเพิ่มเติมได้ที่ กล้วยไข่เชื่อม เมนูขนมหวาน ทำเองก็ได้ อร่อยด้วย

++++++++++++++++++++

5. กล้วยน้ำว้าเชื่อมสีแดง


ขนมไทยเชื่อม

          เมื่อเช้าเห็นกล้วยน้ำว้าหวีใหญ่ขายถูกเลยซื้อมา แต่ลืมไปว่าคุณสามีไปต่างจังหวัดไม่มีใครช่วยกินกล้วยสด ๆ สงสัยต้องทำกล้วยเชื่อมเก็บไว้กินก่อนที่จะสุกไปกว่านี้ ขอยกตัวอย่างสูตรกล้วยน้ำว้าเชื่อมสีแดงธรรมชาติ รสชาติหวานฉ่ำ ทำกินเพลิน ๆ ยามบ่ายก็เริดเลอนะคะคุณขา

ส่วนผสม กล้วยน้ำว้าเชื่อมสีแดง

          • กล้วยน้ำว้าห่าม ๆ 12 หวี (ประมาณ  8-10 ลูก)
          • น้ำปูนใส (สำหรับแช่กล้วย) **ถ้าไม่มีน้ำปูนใสให้ใช้น้ำเปล่าผสมเกลือป่นได้
          • น้ำเปล่า 3 ถ้วยตวง
          • ใบเตย 3 ใบ
          • น้ำตาลปี๊บ 100 กรัม
          • น้ำตาลทรายแดง 50 กรัม
          • น้ำมะนาว 1/2 ช้อนโต๊ะ

วิธีทำกล้วยน้ำว้าเชื่อมสีแดง

          1. ปอกเปลือกกล้วยน้ำว้าออกแล้วหั่นเป็น 4 ชิ้น นำไปแช่ทิ้งไว้ในน้ำปูนใส (หรือน้ำผสมเกลือ) ประมาณ 1 ชั่วโมง พอครบเวลานำไปล้างจนหมดกลิ่นปูน
          2. ใส่น้ำเปล่า ใบเตย น้ำตาลปี๊บ และน้ำตาลทรายลงในหม้อ พอเดือดใส่กล้วยน้ำว้าลงไป ตามด้วยน้ำมะนาว รอให้เดือดอีกครั้งแล้วช้อนฟองทิ้งจนหมด เคี่ยวต่อด้วยไฟอ่อนประมาณ 2 ชั่วโมง หรือจนกล้วยเปลี่ยนเป็นสีแดง ตักใส่ภาชนะ พร้อมเสิร์ฟ

          + ดูวิธีทำเพิ่มเติมได้ที่ กล้วยเชื่อมแดง ขนมไทยโบราณหากินยากแต่เราทำเองได้

++++++++++++++++++++


6. ลูกตาลเชื่อม จาวตาลเชื่อม


ลูกตาลเชื่อม

          จาวตาลเชื่อม บางคนเรียกว่า ลูกตาลเชื่อม ขนมไทยโบราณหากินยาก ราคาก็แพงใช่เล่น แต่ถ้าได้ทำเองจะคุ้มสุด ๆ ขอแนะนำจาวตาลเชื่อม สูตรโบราณ ปลอดสารพิษ ไม่ใช้สารเคมีในการล้าง เนื้อจาวตาลจะแน่นหอมหวาน อร่อยจริง ๆ นะขอบอก

ส่วนผสม ลูกตาลเชื่อม จาวตาลเชื่อม

          • จาวตาล 7 กิโลกรัม
          • ฟางข้าว (สำหรับผสมน้ำเปล่าล้างจาวตาล)
          • สารส้ม (สำหรับผสมน้ำเปล่าล้างจาวตาล)
          • น้ำสะอาด (สำหรับล้างจาวตาล)
          • น้ำตาลทราย 4 กิโลกรัม
          • น้ำเปล่า (สำหรับต้มจาวตาล)

วิธีทำลูกตาลเชื่อม

          1. เอาเปลือกจาวตาลออก เอารากออก เสร็จแล้วนำมาล้างกับฟางข้าวผสมน้ำเปล่า 1 ครั้ง เพื่อเอาเมือกออก และล้างกับสารส้มผสมน้ำเปล่า 1 ครั้ง สุดท้ายล้างด้วยน้ำสะอาดอีก 3 ครั้ง
          2. ต้มน้ำเปล่าให้เดือด ใส่จาวตาลลงไปลวกประมาณ 10-15 นาที หรือจนจาวตาลสุก ตักออกมาพักไว้สักครู่
          3. แบ่งน้ำตาลทรายประมาณ 2 กิโลกรัมใส่ลงไปบนจาวตาล ใส่น้ำเปล่าพอท่วม ปิดฝา ตั้งไฟรอจนเดือดประมาณ 15 นาที เปิดฝา เอาน้ำสะอาดพรมหน้าจาวตาล ใส่น้ำตาลทรายที่เหลืออีก 2 กิโลกรัม ปิดฝา ตั้งไฟรอจนเดือดประมาณ 20 นาที ตักขึ้นมาใส่ภาชนะเพื่อกลับด้านบนลงล่างให้จาวตาลดูดซึมน้ำเชื่อมให้เท่ากัน
          4. ตั้งน้ำเชื่อมรอจนเดือด ช้อนฟองออก ใส่จาวตาลลงไปต้มต่ออีกประมาณ 20 นาที ตักใส่ภาชนะ พร้อมเสิร์ฟ

          ขนมเชื่อมน่ากินทั้งนั้นเลยค่ะ มีทั้งสูตรมันเชื่อม ทุเรียนเชื่อม ฟักทองเชื่อม กล้วยเชื่อม และจาวตาลเชื่อม แถมเก็บไว้ได้นานอีกด้วย นี่ถ้ากินอาหารรสเผ็ดมาก็คว้าขนมไทยเชื่อมมากินสบายอุรา หรือถ้าซื้อพวกกล้วย หรือทุเรียนมาเยอะแล้วคาดว่ากินไม่หมดชัวร์ ๆ ก็จัดการนำมาเชื่อมได้เลยค่ะ จะได้ไม่เสียของเนอะ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
6 สูตรขนมไทยเชื่อม เนื้อเงาวับหวานฉ่ำน้ำเชื่อมใครก็ทำได้ อัปเดตล่าสุด 13 มิถุนายน 2565 เวลา 13:47:00 196,497 อ่าน
TOP
x close