1. ข้าวเหนียวสังขยา
ส่วนผสม สังขยาไข่
- ไข่เป็ด 3 ฟอง
- น้ำตาลปึก 4 ก้อน
- กะทิ 1/2 กระป๋อง
- ใบเตย 3-4 ใบ
ส่วนผสม ข้าวเหนียวมูน
- ข้าวเหนียวเขี้ยวงู
- สารส้ม
- กะทิ
- น้ำตาลทราย
- เกลือป่น
- ใบเตย
วิธีทำสังขยาไข่
2. เติมกะทิ คนให้เข้ากัน แล้วกรองด้วยผ้าขาวบางใส่ในถ้วย ชาม หรือถาดก้นลึก
3. นำขึ้นนึ่งในหม้อน้ำเดือด ใช้ไฟแรงเปิดฝาขณะนึ่งจนสุกใช้เวลาประมาณ 45 นาที (ระยะเวลาขึ้นอยู่กับขนาดของภาชนะ) เสิร์ฟกับข้าวเหนียวมูน ทั้งข้าวเหนียวขาว ข้าวเหนียวดำ และข้าวเหนียวเหลือง
วิธีทำข้าวเหนียวมูน
1. แช่ข้าวเหนียวในน้ำกวนสารส้ม 5 นาที แล้วเทน้ำออก จากนั้นแช่น้ำทิ้งไว้ 3 ชั่วโมง หรือแช่ค้างคืน ทั้งนี้ หากอยากได้ข้าวเหนียวสีสันต่าง ๆ ให้ผสมสีผสมอาหาร หรือสีจากธรรมชาติลงไปในน้ำด้วย
2. เมื่อครบเวลาให้เทน้ำออก แล้วนำเข้าเหนียวไปนึ่ง ตั้งไฟแรงจนสุก แล้วเทพักไว้รอน้ำกะทิ
3. ตั้งหม้อใส่กะทิ น้ำตาลทราย เกลือป่น และใบเตยลงไป ต้มพอเดือด
4. นำน้ำกะทิที่ได้เทใส่ข้าวเหนียวแล้วคนให้ทั่ว ปิดฝาพักไว้สักประมาณ 10-15 นาที และคนข้าวเหนียวอีกครั้ง
5. ตักข้าวเหนียวใส่จาน เสิร์ฟพร้อมสังขยาเนื้อนวล แค่นี้ก็อร่อยแล้ว
2. สังขยาฟักทอง
ส่วนผสม สังขยาฟักทอง
- ฟักทอง (พันธุ์ศรีเมือง) ลูกเล็กไม่เกิน 1 กิโลกรัม จำนวน 2 ลูก
- หัวกะทิ 250 กรัม
- น้ำตาลปี๊บ (น้ำตาลโตนด) 500 กรัม
- ไข่ไก่ 3 ฟอง
- ไข่เป็ด 3 ฟอง
- ใบเตย 5 ใบ
- เกลือ (เล็กน้อย)
วิธีทำสังขยาฟักทอง
1. ใช้มีดเจาะไปที่ขั้วฟักทองเป็นวงกลมหรือสี่เหลี่ยมก็ได้ ใช้ช้อนขูดเอาเมล็ดและไส้ฟักทองออก แล้วนำไปล้างให้สะอาดผึ่งให้แห้ง
2. เทหัวกะทิ น้ำตาลปี๊บ ตอกไข่ และใส่เกลือลงไปในอ่างผสม ใช้ใบเตยขยำให้ส่วนผสมทุกอย่างเข้ากัน กรองด้วยกระชอนแล้วเทใส่ในลูกฟักทอง
3. นำไปนึ่งในน้ำเดือด จากนั้นก็ลดเป็นไฟอ่อน ใช้เวลานึ่งประมาณ 1 ชั่วโมง (หมั่นเปิดฝาดูทุก ๆ 20 นาที) พักสังขยาฟักทองให้เย็น แล้วจึงนำมาผ่าครึ่ง แบ่งเป็นชิ้นเล็ก ๆ
3. ขนมชั้น
ส่วนผสม ขนมชั้น
- น้ำตาลทราย 2+1/2 ถ้วย
- น้ำกะทิ 4 ถ้วย
- แป้งข้าวเจ้า 1/2 ถ้วย
- แป้งมันสำปะหลัง 1/2 ถ้วย
- แป้งเท้ายายม่อม 1+1/2 ถ้วย (หรือแป้งถั่วเขียว)
- น้ำใบเตยคั้นเข้มข้น 1/2 ถ้วย
- น้ำหอมกลิ่นมะลิผสมน้ำ 1/2 ถ้วย
- ถาดหรือพิมพ์สี่เหลี่ยมสำหรับนึ่งขนม (ขนาด 10x10 นิ้ว หรือ 8x8 นิ้ว)
วิธีทำขนมชั้น
1. ใส่น้ำตาลทรายและกะทิลงในหม้อ คนผสมให้เข้ากันแล้วนำขึ้นตั้งไฟปานกลางประมาณ 5 นาที จนน้ำตาลทรายละลาย (ไม่ต้องรอให้เดือด) ยกลงจากเตา พักทิ้งไว้จนเย็น
2. นึ่งถาดหรือพิมพ์ในชุดนึ่งที่มีน้ำเดือด ประมาณ 15 นาที เตรียมไว้
3. ผสมแป้งข้าวเจ้า แป้งมันสำปะหลัง และแป้งเท้ายายม่อมเข้าด้วยกัน ค่อย ๆ เทส่วนผสมน้ำกะทิลงไป ใช้มือนวดแป้งให้เข้ากันเป็นเนื้อเดียว นวดประมาณ 15 นาที จนแป้งไม่จับตัวเป็นก้อน จากนั้นนำไปกรองด้วยตะแกรง
4. แบ่งแป้งเป็น 2 ถ้วย โดยถ้วยที่ 1 ผสมกับน้ำใบเตย และถ้วยที่ 2 ผสมกับน้ำมะลิ คนผสมให้เข้ากัน เตรียมไว้
5. ทำชั้นที่ 1 โดยเทส่วนผสมสีขาว (เทส่วนผสมทุกชั้นประมาณ 1/3 ถ้วย) ลงในพิมพ์ ปิดฝา นึ่งประมาณ 5 นาที เปิดฝา เทส่วนผสมสีเขียวลงไป ปิดฝา นึ่งประมาณ 5 นาที ทำซ้ำเช่นเดิม สลับชั้นกันจนหมดแป้ง จะได้ประมาณ 9-10 ชั้น โดยชั้นสุดท้าย ให้นึ่งประมาณ 7 นาที ยกออกจากชุดนึ่ง วางพักทิ้งไว้จนเย็นสนิท (ประมาณ 3 ชั่วโมง)
6. นำขนมออกจากถาด จุ่มมีดลงในน้ำร้อน กดลงบนขนมเป็นชิ้น ๆ จัดใส่จาน พร้อมเสิร์ฟ
4. ข้าวเหนียวแดง
ส่วนผสม ข้าวเหนียวแดง
- ข้าวเหนียวนึ่งสุก 5 ถ้วย
- กะทิ 3 ถ้วยตวง
- น้ำตาลปี๊บ 250 กรัม
- เกลือป่น 1/2 ช้อนชา
- งาขาวคั่ว 1/2 ถ้วย
วิธีทำข้าวเหนียวแดง
1. ใส่น้ำตาลปี๊บลงในกระทะทองเหลือง หรือกระทะเทฟลอน นำขึ้นตั้งไฟอ่อน เคี่ยวจนน้ำตาลละลายเป็นคาราเมล และมีสีเข้มขึ้น จากนั้นค่อย ๆ เทกะทิและใส่เกลือป่นลงไป คนผสมให้เข้ากันดี
2. ใส่ข้าวเหนียวลงกวนกับส่วนผสมน้ำตาล ใช้พายไม้กวนเรื่อย ๆ จนข้าวเหนียวเริ่มแห้ง และร่อนออกจากกระทะ หรือประมาณ 15 นาที พักทิ้งไว้สักครู่ให้ขนมจับตัวกันเป็นก้อน
3. ตักขนมใส่ลงในถาดที่ทาน้ำมันพืชบาง ๆ เกลี่ยหน้าขนมให้เรียบ โรยงาขาวคั่ว ตัดเป็นชิ้น พร้อมเสิร์ฟ
เทคนิคในการทำข้าวเหนียวแดง
- ถ้าอยากให้ขนมขึ้นเงาสวย หลังจากที่ตักขนมใส่ถาด ให้ใช้ใบตองวางลงบนหน้าขนมก่อนโรยงา แล้วเกลี่ยให้เรียบ จากนั้นนำใบตองออก แล้วค่อยโรยงา
- ถ้าใช้กระทะทองเหลือง สีของขนมจะเข้มกว่าใช้กระทะเทฟลอน
5. ข้าวเหนียวแก้ว
ส่วนผสม ข้าวเหนียวแก้ว
- ข้าวเหนียว 1 ถ้วยตวง (แช่น้ำอย่างน้อย 4 ชั่วโมง)
- น้ำตาลทราย 1/2 ถ้วยตวง
- วิปปิ้งครีม 1/2 ถ้วยตวง
- เกลือ 1/2 ช้อนชา
- น้ำปูนใส 1 ช้อนโต๊ะ
- น้ำใบเตย 1/4 ถ้วยตวง
- งาขาวกับงาดำ
วิธีทำข้าวเหนียวแก้ว
1. เทน้ำตาลทราย วิปปิ้งครีม เกลือ น้ำปูนใส และน้ำใบเตยลงในกระทะ คนไปเรื่อย ๆ จนน้ำตาลละลายหมดแล้วก็เคี่ยวต่ออีกสักครู่
2. ใส่ข้าวเหนียวลงไปแล้วคนให้เข้ากัน คนเรื่อย ๆ จนน้ำเริ่มแห้ง และเริ่มจับตัวกันเป็นก้อน ปิดไฟ โรยงาขาวกับงาดำคั่ว
6. ขนมหม้อแกงถั่ว
ส่วนผสม ขนมหม้อแกง
- ถั่วเขียวนึ่งบดละเอียด 200 กรัม
- ไข่เป็ด (ขนาดใหญ่) 5 ฟอง
- ใบเตย
- น้ำตาลปี๊บ 250 กรัม
- หัวกะทิ 400 กรัม
- หอมแดงซอย 50 กรัม (หรือมากน้อยตามชอบ)
- น้ำมันพืช
วิธีทำขนมหม้อแกง
1. เริ่มต้นที่เจียวหอมแดงก่อน โดยใส่น้ำมันพืชลงในกระทะตามด้วยหอมแดง เจียวให้เหลือง ตักขึ้น หรือเอาไปกรองน้ำมันออกก็ง่ายดี
2. ตอกไข่ลงในชาม นำใบเตยที่ล้างทำความสะอาดอย่างดีแล้วใส่ลงไป (เพื่อขยำให้ไข่ขึ้นฟู) ขยำใบเตยจนไข่ขึ้นฟู ใส่น้ำตาลปี๊บลงไปขยำให้เข้ากันดี แล้วตามด้วยหัวกะทิ ขยำอีกรอบให้เข้ากัน นำไปกรอง อาจจะกรองด้วยผ้าขาวบาง 1 รอบก็ได้ แต่ในสูตรกรองด้วยกระชอน 1 รอบ และกรองด้วยผ้าขาวบางอีก 1 รอบ หลังกรองเสร็จก็ใส่ถั่วเขียวนึ่งและบดลงไป ใช้มือขยำหรือวน ๆ คน ๆ ให้ถั่วไม่เป็นก้อน
3. นำกระทะไปตั้งไฟเพื่อกวนส่วนผสมขนม เริ่มจากใส่น้ำมันหอมเจียว 3 ช้อนโต๊ะ เพื่อให้ขนมมีกลิ่นหอมและชูรสชาติให้อร่อยขึ้น ใส่ส่วนผสมขนมลงไปกวน ประมาณ 5 นาที หรือจนขนมข้นขึ้น พอเนื้อเข้ากันก็ยกลงเทใส่พิมพ์ ขยับ ๆ ส่าย ๆ พิมพ์สักหน่อย ให้หน้าขนมเรียบเสมอกัน
4. นำเข้าไปอบที่อุณหภูมิ 180 องศาเซลเซียส ถึง 200 องศาเซลเซียส นาน 40 นาที (แล้วแต่เตาอบด้วยนะ เช็กเตาตัวเองดี ๆ) สุกแล้วเอาออกจากเตา พักให้เย็นสักครู่ค่อยตัดให้เป็นชิ้นสวยงาม ขั้นตอนสุดท้ายโรยหอมเจียว
7. วุ้นกะทิใบเตย
ส่วนผสม วุ้นใบเตย
- น้ำเปล่า 2 ถ้วย (ถ้าต้องการความหอมให้ผสมกลิ่นมะลิ 1 ช้อนชา)
- ผงวุ้น 1 ช้อนโต๊ะ + 2 ช้อนชา
- น้ำใบเตยคั้นเข้มข้น 1/2 ถ้วย
- น้ำตาลทราย 3/4-1 ถ้วย
ส่วนผสม วุ้นกะทิ
- กะทิ 2+1/2 ถ้วย
- ผงวุ้น 1 ช้อนโต๊ะ + 2 ช้อนชา
- น้ำตาลทราย 1/2 ถ้วย
- เกลือป่น ปลายช้อนชา
วิธีทำวุ้นกะทิใบเตย
1. ทำวุ้นใบเตย โดยใส่น้ำและผงวุ้นลงในหม้อ คนให้ผงวุ้นกระจายทั่ว ๆ และไม่เป็นก้อน พักทิ้งไว้สักครู่ จากนั้นนำขึ้นตั้งไฟกลางอ่อน คนผสมเรื่อย ๆ จนเริ่มเดือดและผงวุ้นละลายหมด จากนั้นเติมน้ำตาลทรายลงไป คนให้น้ำตาลทรายละลาย
2. ใส่น้ำใบเตยคั้นลงไปคนผสมให้เข้ากัน รอจนเดือดอีกครั้ง ปิดไฟ ยกลงจากเตาแล้วนำส่วนผสมไปกรอง พักไว้จนเริ่มอุ่น
3. เทส่วนผสมวุ้นใบเตยใส่ลงพิมพ์ที่เตรียมไว้ประมาณครึ่งพิมพ์ จากนั้นนำไปแช่เย็นจนเซตตัว
4. ทำวุ้นกะทิ โดยใส่กะทิลงในหม้อ ตามด้วยผงวุ้น จากนั้นคนให้ผงวุ้นกระจายทั่ว ๆ นำขึ้นตั้งไฟกลางอ่อน คนจนผงวุ้นละลาย และกะทิเริ่มเดือด (แต่ไม่ต้องแตกมัน) จากนั้นเติมน้ำตาลทรายลงไป คนให้น้ำตาลทรายละลาย ปิดไฟ ยกลงจากเตา พักไว้จนเริ่มอุ่น
5. ตักส่วนผสมวุ้นกะทิหยอดลงในพิมพ์ทับวุ้นใบเตยจนเต็มพิมพ์ (ต้องแน่ใจว่าวุ้นใบเตยด้านล่างเซตตัวดีแล้ว) นำวุ้นไปแช่เย็นจนเซตตัว นำออกจากพิมพ์ พร้อมเสิร์ฟ
8. วุ้นไข่
ส่วนผสม วุ้นไข่
- น้ำ 500 กรัม
- ผงวุ้น 1 ช้อนโต๊ะ
- น้ำตาลทราย 80 กรัม
- ไข่ไก่ 1 ฟอง
วิธีทำวุ้นไข่
1. ใส่น้ำเปล่า เติมผงวุ้นกับน้ำตาลทราย คนให้น้ำตาลละลายดีและต้มวุ้นให้เดือด
2. ตีไข่ให้แตก ค่อย ๆ เทไข่ลงไปในวุ้นเป็นเส้นเล็กแล้วใช้ช้อนคนไข่ไม่ให้จับตัวเป็นก้อน
3. พอไข่สุกดีแล้วก็เทใส่กาน้ำนกหวีด เพื่อที่จะไปเทใส่พิมพ์ได้ง่าย ๆ เทวุ้นใส่ในพิมพ์ที่เตรียมไว้ รอให้วุ้นเซตตัวก็กินได้ ถ้าใครชอบกลิ่นหอม ๆ ก็เติมกลิ่นวานิลลาได้ด้วย
9. ทองหยอด
ส่วนผสม ทองหยอด
- ไข่แดง ของไข่เป็ด 10-15 ฟอง
- แป้งข้าวเจ้าหรือแป้งทองหยอด หรือเอาแป้งข้าวเจ้าไปอบควันเทียนทิ้งไว้ 1 คืน
ส่วนผสม น้ำเชื่อมเย็น สำหรับหล่อขนมทองหยอด
- น้ำลอยดอกมะลิ 500 กรัม (ถ้าไม่ชอบหวานมากก็เติมน้ำลงไป 200-300 กรัมก็ได้)
- น้ำตาลทราย 1 กิโลกรัม
ส่วนผสม น้ำเชื่อมทองหยอด
- น้ำตาลทราย 1 กิโลกรัม
- น้ำลอยดอกมะลิ 800 กรัม (ถ้าชอบหวาน ๆ ก็ใส่แค่ 500 ก็พอ ถ้าไม่มีมะลิจะใส่กลิ่นมะลิลงไปสัก 1-2 หยดก็ได้)
วิธีทำทองหยอด
1. ทำทองหยอดโดยตีไข่แดงให้ขึ้นฟู แบ่งไข่ใส่ถ้วย ใส่แป้งข้าวเจ้าลงไปประมาณ 2-3 ช้อนโต๊ะ ค่อย ๆ ใส่ทีละช้อน แล้วตะล่อมเบา ๆ จนเข้ากัน การใส่แป้งจะทำให้ไข่ไม่เหลว และอยู่ตัวขึ้นรูปง่ายเวลาหยอด พอเข้ากันแล้วก็เตรียมนำมาหยอดได้
2. ต้มน้ำเชื่อมจนเดือดเป็นฟองฟู แล้วจึงหยอดไข่ลงไป (ในสูตรใช้น้ำเชื่อมที่ทำทองหยิบ แล้วเติมน้ำไปอีก 200-300 กรัม) การหยอดสำหรับมือใหม่ จะตักไข่ประมาณปลายช้อน ใช้นิ้วชี้ปาด แล้วเอาช้อนปาดรวบใต้นิ้วอีกที เพื่อทำเป็นหยดน้ำ หยอดแบบนี้เราจะกะขนาดลูกได้ง่าย ทองหยอดออกมาเป็นหยดน้ำสวยงาม เวลาหยอดถ้าไข่เหลวไปก็สามารถเติมแป้งได้ค่ะ น้ำเชื่อมควรเป็นน้ำเชื่อมที่ผ่านการทำขนมหรือผ่านไข่มาบ้าง จะทำให้เดือดเป็นฟองฟูแบบนี้ (ช้อนที่ใช้หยอดไข่จะเป็นช้อนกาแฟ ลูกเล็กใหญ่แล้วแต่ชอบเลย ในสูตรตักประมาณ เกือบ 1/2 ช้อน)
3. ต้มประมาณ 2-3 นาที เหยาะน้ำลงไปเล็กน้อยเพื่อเช็กว่าทองหยอดสุกหรือยัง ถ้าทองหยอดลอยและสีเข้มขึ้นแสดงว่าสุกแล้ว ตักขึ้นได้เลย พักในน้ำเชื่อมเย็น แช่ไว้ประมาณ 2-3 นาที จากนั้นตักขึ้นสะเด็ดน้ำเชื่อม
10. ทองหยิบ
ส่วนผสม ทองหยิบ
- ไข่แดง ของไข่เป็ด 12 ฟอง
ส่วนผสม น้ำเชื่อมเย็น สำหรับหล่อขนมทองหยิบ
- น้ำลอยดอกมะลิ 500-800 กรัม (ถ้าไม่ชอบหวานก็ใส่ 1 กิโลกรัม)
- น้ำตาลทราย 1 กิโลกรัม
ส่วนผสม น้ำเชื่อมทองหยิบ
- น้ำตาลทราย 1 กิโลกรัม
- น้ำลอยดอกมะลิ 500 กรัม (หรือจะใส่กลิ่นมะลิลงไปในน้ำเชื่อมสัก 1-2 หยดก็ได้)
วิธีทำทองหยิบ
1. ทำน้ำเชื่อมสำหรับหล่อขนมโดยใส่น้ำลอยดอกมะลิกับน้ำตาลทราย เปิดเตา และคนจนน้ำตาลละลาย พอเดือดดับเตาแล้วพักน้ำเชื่อมไว้จนเย็น
2. ตอกไข่ใส่ในชามผสม แยกไข่แดง เอาไข่ขาวออกจนหมดหรือให้เหลือน้อยที่สุด
3. ตีไข่แดงให้เข้ากัน กรองด้วยผ้าขาวบาง เริ่มด้วยตีไข่ให้ขึ้นฟู เตรียมไว้
4. ทำน้ำเชื่อมสำหรับทำทองหยิบโดยใส่น้ำลอยดอกมะลิกับน้ำตาลทราย เปิดเตาคนจนน้ำตาลละลาย รอจนเดือด พอน้ำเชื่อมเดือดแล้ว เหยาะน้ำลงไปเล็กน้อยแล้วดับเตา รอจนน้ำเชื่อมนิ่งก็หยอดไข่ลงไป พอหยอดเต็มกระทะก็เปิดเตา
5. พอขนมฟูขึ้นก็พลิกอีกด้านหนึ่ง พอสีเข้มขึ้นและสุกทั้งสองด้านก็ตักขึ้นได้ ก่อนตักขึ้นให้แกว่ง ๆ ล้างฟองออกให้หมดก่อนนะคะ พักไว้ในน้ำเชื่อมเย็นที่เราเตรียมไว้ เหยาะน้ำลงไปแล้วดับเตา รอจนน้ำเชื่อมนิ่ง หยอดต่อได้เลย พอหยอดเต็มกระทะเปิดเตา รอจนสุกตักขึ้น ทำจนแป้งหมด
6. แช่แผ่นทองหยิบไว้ในน้ำเชื่อมเย็นประมาณ 5-10 นาที พอครบเวลาขั้นตอนต่อไป เราจะมาจับจีบกัน โดยเอาด้านเรียบไว้ด้านนอก จะจับ 3, 4 หรือ 5 จีบก็แล้วแต่ชอบเลย ใส่ในถ้วยตะไลที่เตรียมไว้ จัดทรงให้สวยงาม จากนั้นรอให้เซตตัวสัก 1 ชั่วโมง
11. ฝอยทอง
ส่วนผสม ฝอยทอง
- ไข่เป็ด 6 ฟอง
- ไข่ไก่ 3 ฟอง
- น้ำตาลทรายขาว 1 กิโลกรัม
- น้ำลอยดอกมะลิ 1,000 มิลลิลิตร (หรือน้ำผสมกลิ่นมะลิ)
- ใบเตย (มัดรวมกัน) 4 ใบ
อุปกรณ์
- กระทะทองเหลือง
- กรวยใบตองหรือกรวยโลหะ
- ไม้แหลม ยาวประมาณ 1 ฟุต
- ตะแกรง
- ถาดรองน้ำเชื่อม
วิธีทำฝอยทอง
1. แยกไข่แดงกับไข่ขาวออกจากกันและรีดไข่น้ำค้าง (ไข่ขาวที่เป็นน้ำใส ๆ เหมือนน้ำค้างติดอยู่ภายในเปลือกไข่) ลงไปในไข่แดง (ไข่น้ำค้างทำให้เส้นฝอยทองเหนียวนุ่ม ไม่ขาดง่าย) ตีผสมไข่แดงให้พอเป็นเนื้อเดียวกัน (ไม่ต้องตีให้ขึ้นฟู เพราะจะทำให้เส้นขาดเวลาโรยลงในกระทะ) จากนั้นนำไปกรองในผ้าขาวบาง เตรียมไว้
2. ทำน้ำเชื่อมโดยใส่น้ำลอยดอกมะลิ น้ำตาลทราย และใบเตยลงในหม้อ นำขึ้นตั้งไฟกลางรอจนน้ำตาลละลาย จากนั้นนำไปกรองแล้วเทใส่ลงกระทะทองเหลือง เคี่ยวด้วยไฟอ่อนอีกครั้งจนเป็นเหนียวข้น
3. ตักส่วนผสมไข่แดงลงในกรวยแล้วค่อย ๆ โรยไข่แดงลงไปในน้ำเชื่อมที่เดือด (ใช้ไฟกลาง) วนให้รอบกระทะทองเหลืองประมาณ 20-30 รอบต่อชิ้น จากนั้นยกกรวยขึ้น
เคล็ดลับ : ถ้าต้องการฝอยทองเส้นเล็กให้ยกกรวยสูงจากน้ำเชื่อม แต่ถ้าต้องการฝอยทองเส้นใหญ่ ก็ให้ถือกรวยต่ำ ๆ
4. พอไข่แดงสุกให้ใช้ไม้ปลายแหลมพับครึ่งเส้นฝอยทองแล้วเอามาพักบนตะแกรงให้สะเด็ดน้ำเชื่อม
12. เปียกปูน
ส่วนผสม เปียกปูน
- แป้งข้าวเจ้า 500 กรัม
- แป้งเท้ายายม่อม (หรือแป้งมัน) 150 กรัม
- น้ำปูนใส
- น้ำตาลปี๊บ 1+1/2 กิโลกรัม (ปรับเพิ่ม-ลดความหวานได้ตามชอบ)
- น้ำใบเตยคั้นเข้มข้น
- มะพร้าวทึนทึกขูดเป็นเส้น สำหรับโรยหน้า
วิธีทำเปียกปูน
1. ผสมแป้งข้าวเจ้า แป้งเท้ายายม่อม และน้ำปูนใสเล็กน้อยพอให้เหลว ๆ คนให้ละลายเข้าด้วยกัน
2. ใส่น้ำใบเตยลงไปคนให้เข้ากัน ตามด้วยน้ำตาลปี๊บคนให้ละลาย จากนั้นนำน้ำนำไปกรองผ่านกระชอน
3. เทส่วนผสมลงในกระทะทองเหลืองหรือกระทะเทฟลอน นำขึ้นตั้งกวนด้วยไฟแรงจนส่วนผสมงวดและแห้งเหนียว
4. ตักส่วนผสมใส่พิมพ์ พักทิ้งไว้จนส่วนผสมเซตตัว ตัดเป็นชิ้น ๆ โรยมะพร้าวขูด พร้อมเสิร์ฟ
13. เม็ดขนุน
ส่วนผสม ไส้เผือกกวน
- เผือกนึ่งสุก 500 กรัม
- หัวกะทิ 300 กรัม
- น้ำตาลทราย 200 กรัม
- เกลือ 1/2 ช้อนชา
ส่วนผสม น้ำเชื่อม
- น้ำตาลทราย 1 กิโลกรัม
- น้ำ 1 ลิตร
- ไข่แดงของไข่เป็ด 5 ฟอง (สำหรับชุบขนม)
วิธีทำเม็ดขนุนเผือก
1. บดเผือกให้ละเอียด ใส่น้ำตาลทราย หัวกะทิ และเกลือลงในเผือกบด กวนด้วยไฟอ่อนให้เข้ากัน กวนจนแห้งและเหนียวหน่อย ๆ พักไว้ให้เย็นเตรียมปั้น
2. ปั้นในแบบที่ต้องการเลย เตรียมไข่แดงไว้ชุบ ระหว่างนี้ตั้งน้ำเชื่อม ค่อย ๆ ตักหยอดในน้ำเชื่อมที่เดือดเบา ๆ พอไข่สุกตักขึ้น แบ่งใส่กล่องไปให้เพื่อนช่วยชิม
14. เผือกกวน
ส่วนผสม เผือกกวน
- เผือกหั่นเป็นชิ้น 500 กรัม (หั่นขนาดเท่ากันจะได้สุกพร้อมกัน)
- หัวกะทิ 2 ถ้วย (ถ้าคั้นกะทิเองควรใช้น้ำลอยดอกมะลิในการคั้นเพราะจะทำให้กะทิมีกลิ่นหอมมากขึ้น)
- ใบเตย
- น้ำตาลปี๊บ หรือน้ำตาลปึก 1/4 ถ้วย
- น้ำตาลทราย 1+1/4 ถ้วย
- เกลือป่น 1/4 ช้อนชา
วิธีทำเผือกกวน
1. ใส่เผือกลงไปในชุดนึ่งที่มีน้ำเดือดพล่าน ใช้เวลานึ่งประมาณ 30-35 นาที (แล้วแต่ปริมาณของเผือก)
2. ใส่หัวกะทิและใบเตยลงไปในหม้อ นำไปต้มด้วยไฟกลางอ่อนรอจนเดือดพล่านและมีกลิ่นของใบเตยออกมา พอได้กลิ่นหอมแล้วตักใบเตยออก
3. ใส่น้ำตาลปี๊บและน้ำตาลทรายลงไป ตามด้วยเกลือป่นคนให้เข้ากัน แล้วลดเป็นไฟอ่อนคนจนกว่าทุกอย่างจะละลายเข้ากัน เตรียมไว้
4. นำเผือกใส่กระทะ (แนะนำให้ใช้กระทะเทฟลอน) บดเผือกด้วยที่กดมันฝรั่ง หรือช้อนส้อมให้ละเอียด (ยังไม่ต้องเปิดเตา)
5. พอเผือกละเอียดแล้วใส่ส่วนผสมกะทิลงไปคนให้เข้ากันจนเนียนเป็นเนื้อเดียวกัน
6. เปิดเตาใช้ไฟกลางค่อนไปทางอ่อนแล้วเริ่มกวนเผือกไปเรื่อย ๆ ใช้เวลาประมาณ 10-12 นาที หรือจนแห้งและล่อนไม่ติดกระทะและมีลักษณะเป็นก้อน และถ้าจะเอาไปทำเป็นไส้ขนมให้ใช้เวลากวนประมาณ 7 นาทีพอ เพราะส่วนผสมค่อนข้างจะเหลวตัวหน่อย
7. เมื่อกวนไปเรื่อย ๆ จะสังเกตเห็นว่าเผือกจะเริ่มแห้งตัวลงแล้ว อย่ากวนจนแข็งตัวเกินไปเพราะเวลาเย็นลงแล้วจะแข็งตัวมากขึ้น
8. นำเผือกกวนมาใส่ถาด หรือภาชนะที่ไม่ติด
9. ทิ้งเผือกกวนไว้ให้เย็นสนิท จากนั้นนำมาตัดเป็นชิ้น ๆ หรือกดเป็นลายต่าง ๆ ตามชอบ พร้อมเสิร์ฟ
15. ถั่วกวน
ส่วนผสม ถั่วกวน
- ถั่วเขียวเราะเปลือก 1+1/4 ถ้วย
- น้ำตาลทราย 1+1/4 ถ้วย
- กะทิ 2+1/4 ถ้วย
- ใบเตย (ใส่หรือไม่ใส่ก็ได้)
วิธีทำถั่วกวน
1. ล้างถั่วเขียวหลาย ๆ ครั้งจนน้ำที่ล้างใส จากนั้นแช่น้ำทิ้งไว้ 3-4 ชั่วโมง ตักขึ้นสะเด็ดน้ำ พักไว้สักครู่
2. เทถั่วเขียวที่สะเด็ดน้ำแล้วใส่ลงในผ้าขาวบาง ตามด้วยใบเตย จากนั้นนำไปนึ่งด้วยไฟแรงสูงประมาณ 15-20 นาที หรือนำไปต้มประมาณ 15 นาทีจนถั่วสุก นำออกจากชุดนึ่งแล้วเกลี่ยบาง ๆ พักทิ้งไว้จนเย็นสนิท
3. นำถั่วนึ่งสุกไปปั่นหรือตำให้ละเอียด
4. ใส่ถั่วบดลงในกระทะ ตามด้วยน้ำตาล และกะทิ คนผสมให้เข้ากัน นำขึ้นตั้งไฟอ่อน กวนผสมไปเรื่อย ๆ จนส่วนผสมแห้งและไม่ติดกระทะ
5. ตักใส่ถาดแล้วเกลี่ยให้เรียบ ปิดด้วยพลาสติกถนอมอาหาร (ป้องกันหน้าขนมแห้ง) พักทิ้งไว้ประมาณ 15 นาทีจนเย็นและแห้ง ตัดเป็นชิ้น ๆ หรือกดเป็นรูปต่าง ๆ พร้อมเสิร์ฟ
เคล็ดลับ : ถ้าต้องการความหอมสามารถนำไปอบควันเทียนประมาณ 15 นาทีหรือจนควันเทียนหมดก่อนเสิร์ฟ
16. ขนมน้ำดอกไม้
ส่วนผสม ขนมน้ำดอกไม้
- น้ำตาลทราย 225 กรัม
- น้ำร้อน 450 มิลลิลิตร
- แป้งข้าวเจ้า 200 กรัม
- แป้งเท้ายายม่อม 1+1/2 ช้อนโต๊ะ
- กลิ่นมะลิ 1/2 ช้อนชา
- สีผสมอาหาร
วิธีทำขนมน้ำดอกไม้
1. ผสมน้ำตาลทรายกับน้ำร้อน แล้วคนจนน้ำตาลทรายละลาย จากนั้นพักให้เย็นลง
2. ผสมแป้งข้าวเจ้ากับแป้งเท้ายายม่อม ค่อย ๆ เทน้ำที่ผสมน้ำตาลลงไป แล้วใช้มือขยำจนแป้งละลายหมด พอผสมเข้ากันดีก็เทน้ำส่วนที่เหลือลงไปแล้วตามด้วยกลิ่นมะลิ (ถ้าไม่ชอบไม่ต้องใส่กลิ่นก็ได้)
3. แบ่งใส่ถ้วย ใส่สีตามชอบใจ สีอย่าใส่มาก ให้ใส่ถ้วยละหยดพอ พอขนมสุกสีจะเข้มขึ้นอีก
4. นึ่งถ้วยให้ร้อนประมาณ 15 นาที จากนั้นเทขนมลงไปให้เต็มถ้วย นึ่งด้วยไฟแรง 15 นาที พอขนมสุกให้เอามาพักไว้ในน้ำเย็นจัดก่อนนำขนมออกจากถ้วย พอขนมเย็นแล้วก็แคะเอาออกจากถ้วย
17. กล้วยเชื่อมแดง
ส่วนผสม กล้วยเชื่อมแดง
- กล้วยน้ำว้าห่าม ๆ 1-2 หวี (ประมาณ 8-10 ลูก)
- น้ำปูนใส (สำหรับแช่กล้วย) **ถ้าไม่มีน้ำปูนใสให้ใช้น้ำเปล่าผสมเกลือป่นได้
- น้ำเปล่า 3 ถ้วยตวง
- ใบเตย 3 ใบ
- น้ำตาลปี๊บ 100 กรัม
- น้ำตาลทรายแดง 50 กรัม
- น้ำมะนาว 1/2 ช้อนโต๊ะ
วิธีทำกล้วยเชื่อมแดง
1. ปอกเปลือกกล้วยน้ำว้าออกแล้วหั่นเป็น 4 ชิ้น นำไปแช่ทิ้งไว้ในน้ำปูนใส (หรือน้ำผสมเกลือ) ประมาณ 1 ชั่วโมง พอครบเวลานำไปล้างจนหมดกลิ่นปูน
2. ใส่น้ำเปล่า ใบเตย น้ำตาลปี๊บ และน้ำตาลทรายแดงลงในหม้อ พอเดือดใส่กล้วยน้ำว้าลงไป ตามด้วยน้ำมะนาว รอให้เดือดอีกครั้งแล้วช้อนฟองทิ้งจนหมด เคี่ยวต่อด้วยไฟอ่อนประมาณ 2 ชั่วโมง หรือจนกล้วยเปลี่ยนเป็นสีแดง ตักใส่ภาชนะ พร้อมเสิร์ฟ
18. ขนมมัน
ส่วนผสม ขนมมัน
- เนื้อมันสำปะหลัง (ขูดละเอียด) 400 กรัม
- น้ำตาลทรายขาว 200 กรัม
- น้ำใบเตย 1 ถ้วย
- เนื้อมะพร้าวทึนทึกขูด 1 ถ้วย
- เกลือป่นเล็กน้อย
- ถ้วยตะไล (สำหรับนึ่ง)
วิธีทำขนมมันนึ่ง
1. ผสมเนื้อมันสำปะหลังขูดกับน้ำตาลทราย ค่อย ๆ เทน้ำใบเตยลงนวดให้เข้ากันจนน้ำตาลละลาย
2. ตักส่วนผสมใส่ถ้วยตะไลแล้วนำไปวางเรียงในชุดนึ่ง
3. นำชุดนึ่งที่ใส่น้ำแล้วขึ้นตั้งไฟรอจนน้ำเดือด ยกชุดนึ่งที่ใส่ขนมวางลงไปนึ่งประมาณ 10-15 นาที หรือจนขนมสุก นำออกมาพักไว้ให้เย็น
4. นำเนื้อมะพร้าวขูดไปนึ่งประมาณ 5 นาที แล้วนำออกมาคลุกกับเกลือป่นเล็กน้อย
5. แคะขนมมันออกจากพิมพ์ นำไปคลุกกับมะพร้าวขูดที่เตรียมไว้ จัดใส่จาน พร้อมเสิร์ฟ
19. ฟักทองเชื่อม
ส่วนผสม ฟักทองเชื่อม
- ฟักทอง 1/2 ลูก (เลือกที่เนื้อแน่นจะทำให้ฟักทองเชื่อมมีเนื้อเหนียว)
- น้ำตาลทราย 2 ถ้วยตวง
- น้ำเปล่า 2 ถ้วยตวง
- ใบเตย 5 ใบ
วิธีทำฟักทองเชื่อม
1. หั่นฟักทองออกเป็นชิ้นหนา ๆ ใช้มีดคว้านไส้ออกให้สวยงาม (ถ้ามีน้ำปูนใสให้นำฟักทองไปแช่ทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที จากนั้นนำมาล้างน้ำให้สะอาดแล้วสะเด็ดน้ำเตรียมไว้)
2. ใส่น้ำตาลทรายลงในหม้อเชื่อม ตามด้วยน้ำเปล่า และใบเตย นำขึ้นตั้งไฟอ่อนคนให้น้ำตาลทรายละลายหมด
3. ใส่ฟักทองลงไปในหม้อแล้วเร่งเป็นไฟแรงสุด จากนั้นรอจนเดือดแล้วลดเป็นไฟอ่อน (ใช้ความร้อนแค่พอเดือดปุด ๆ) เชื่อมฟักทองไปเรื่อย ๆ (ไม่ต้องคนเพราะจะทำให้น้ำตาลเกาะกันเป็นก้อน) ประมาณ 1 ชั่วโมง และหมั่นตักน้ำเชื่อมในหม้อราดลงบนชิ้นฟักทองที่ไม่โดนน้ำเชื่อมด้วย เชื่อมจนฟักทองสุกและใส ปิดไฟ พักไว้จนเย็น ตักใส่จาน พร้อมเสิร์ฟ
20. ลูกตาลเชื่อม
ส่วนผสม ลูกตาลเชื่อม จาวตาลเชื่อม
- จาวตาล 1 กิโลกรัม
- สารส้มผสมน้ำ (สำหรับล้างจาวตาล)
- น้ำตาลทราย 500 กรัม
- น้ำเปล่า (สำหรับต้ม)
วิธีทำลูกตาลเชื่อม
1. ปอกเปลือกจาวตาลแล้วออกล้างให้สะอาด นำไปแช่ในน้ำผสมสารส้มทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที จากนั้นนำไปล้างน้ำเปล่าอีกครั้งให้สะอาด สะเด็ดน้ำเตรียมไว้
2. ต้มน้ำเปล่าให้เดือด ใส่จาวตาลลงไปลวกประมาณ 10-15 นาที จนจาวตาลเริ่มสุก ตักขึ้นสะเด็ดน้ำพักไว้สักครู่
3. ใส่จาวตาลลงในหม้อ แบ่งน้ำตาลทรายครึ่งหนึ่ง (ประมาณ 250 กรัม) ใส่ลงไป เติมน้ำเปล่าลงไปพอท่วม ปิดฝา ตั้งไฟรอจนเดือดประมาณ 15 นาที
4. เปิดฝาแล้วพรมน้ำสะอาดด้านบนจาวตาลที่เชื่อมไว้ ใส่น้ำตาลทรายที่เหลืออีกลงไป ปิดฝา ตั้งไฟต่อรอจนเดือดอีกครั้ง
5. กลับด้านจาวตาลจากบนลงล่างเพื่อให้จาวตาลดูดซึมน้ำเชื่อมเท่า ๆ กัน เคี่ยวต่อไปเรื่อย ๆ จนน้ำเชื่อมเดือดและเหนียว (หมั่นช้อนฟองออก) ปิดไฟ พร้อมเสิร์ฟ
สนใจให้ Kapook.com แนะนำการทำอาหารด้วยเครื่องปรุง ของใช้ในครัว หรืออื่น ๆ รับทำการตลาดด้วย Social Network, Content Marketing