อย่างที่รู้กันดีว่า เสน่ห์ของขนมไทย นอกจากจะมีหน้าตาที่ประณีตสวยงาม รสชาติเป็นเอกลักษณ์ ยังมีหลายอุปกรณ์ให้เลือกใช้หลากหลายตามประเภทขนม ไม่ว่าจะเป็นทองม้วนก็ต้องมีพิมพ์ทองม้วน ขนมไข่ต้องหยอดลงพิมพ์ขนมไข่ ขนมทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ก็ต้องใช้กระทะทองเหลือง ซึ่งอุปกรณ์แต่ละชนิดก็มีข้อจำกัดในการใช้ ถ้าใครไม่อยากลงทุนอุปกรณ์เยอะ เรามีขนมไทยแบบนึ่งมาแนะนำกัน
โดยขนมแต่ละแบบที่เรานำมาเสนอแม้จะมีรูปทรงแตกต่างกันไป แต่อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำให้สุกคือ “ลังถึง” หรือ “ซึ้งนึ่ง” ที่มีอยู่แทบทุกบ้าน โดยมีหลายขนาดตั้งแต่ขนาดเล็ก-ใหญ่ ขึ้นอยู่กับขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง โดยปกติมี 2 ชั้นนึ่ง แต่ถ้าทำขายสามารถซ้อนชั้นนึ่งขึ้นไปได้สูงกว่า 2 ชั้น แต่บางสูตรมีการใช้หม้อนึ่ง หม้ออบลมร้อน หรือหม้อหุงข้าว มานึ่งแทนก็ได้
เคล็ดลับในการนึ่งขนมไทย
-
ภาชนะในการนึ่งนิยมใช้ลังถึงทำจากอะลูมิเนียม เพราะน้ำหนักเบา ให้ความร้อนเร็ว ทนกรด ทนด่าง ไม่เป็นสนิม และราคาประหยัด
-
ควรใส่น้ำก้นลังถึงประมาณ 3 ใน 4 ส่วนของภาชนะ เพราะถ้าใส่เต็มเมื่อน้ำเดือดจะโดนขนมตรงก้นซึ้งได้
-
การวางขนมในชั้นนึ่งควรวางให้มีระยะห่าง โดยเฉพาะขนมที่ไม่ได้ใส่ถ้วย หรือไม่มีภาชนะรอง เนื่องจากพอเวลาสุกขนมจะขยายตัว จะได้ไม่ติดกัน
-
การนึ่งขนมไทยที่ใส่ถ้วย ควรนึ่งถ้วยก่อน เนื่องจากจะช่วยทำให้ขนมไม่ติดถ้วยตอนสุก และช่วยให้ขนมสุกเร็วขึ้น
-
ควรปิดฝาลังถึงให้มิดเพื่อให้ขนมสุกเร็ว และเวลาเปิดฝาลังถึงขึ้นมาระวังอย่าให้น้ำที่ฝาหยดลงบนหน้าขนม โดยเฉพาะขนมที่ไม่ได้มีการห่อหุ้ม เพราะจะทำให้ขนมแฉะ หน้าไม่สวย ถ้าต้องการนึ่งต่อไปให้ใช้ผ้าเช็ดน้ำบนฝาลังถึงออกให้หมดแล้วปิด
1. ขนมชั้น
ขนมชั้น ขนมไทยแบบนึ่งมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ช่วงที่มีการเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างชาติและมีการนำวัฒนธรรมอาหารเข้ามา ถ้าเป็นขนมชั้นแบบดั้งเดิมจะเป็นชิ้นสี่เหลี่ยม เนื้อเนียน เหนียวนุ่ม เพิ่มความหอมจากใบเตย บางสูตรอาจใส่น้ำอัญชันหรือเติมสีผสมอาหาร ขั้นตอนการทำคือหยอดแป้งและเอาไปนึ่งทีละชั้น เวลากินสามารถกินทั้งชิ้นหรือจะลอกออกมาเป็นแผ่นบาง ๆ กินทีละชั้นก็ได้ โดยแต่ละชั้นจะมีรสชาติแตกต่างกันไป ในปัจจุบันมีการสร้างสรรค์หน้าตาเพิ่มความน่าสนใจ ทั้งหยอดในพิมพ์ดอกไม้ ขึ้นรูปทรงเป็นดอกกุหลาบ เป็นต้น เป็นสูตรมาจาก คุณ RinS Cook Book (#Rinscookcook)
2. ข้าวต้มมัด
อีกหนึ่งขนมไทยแบบนึ่งที่คุ้นเคยคือข้าวต้มมัด ขนมไทยพื้นบ้าน คาดว่าเกิดในสมัยพุทธกาลที่ชาวบ้านนำขนมชนิดนี้มาใส่บาตรกัน วัตถุดิบหลักคือข้าวเหนียวเอาไปผัดกับกะทิ ห่อไส้กล้วยแล้วนำไปห่อด้วยใบตอง มัดด้วยตอกแล้วเอาไปนึ่งจนสุก แต่งด้วยถั่วดำ ถ้าไม่ใส่ไส้กล้วยน้ำว้าสามารถใส่ไส้อื่นได้ เช่น ไส้เผือก ไส้ถั่วดำ ไส้ถั่วเหลือง เป็นต้น บางสูตรใช้ข้าวเหนียวดำแทนข้าวเหนียวขาว ความอร่อยอยู่ที่ความหอมมันของกะทิในข้าวเหนียว แค่ชิ้นเดียวก็อิ่มอยู่ท้องแล้ว เป็นสูตรมาจาก คุณ RinS Cook Book
3. ขนมมัน
ขนมมันสำปะหลัง ขนมไทยแบบนึ่งทำง่ายมาก ส่วนผสมใช้มันสำปะหลังขูดผสมกับน้ำตาลทราย สูตรนี้ใส่น้ำใบเตยลงไปเพิ่มความหอม หรือไม่ใส่ก็ได้ พอนวดจนเข้ากันแล้วก็หยอดใส่พิมพ์ถ้วยตะไล หรือพิมพ์ถาดสี่เหลี่ยม บางสูตรก็หยดสีผสมอาหารเพิ่มสีสันลงไป พอสุกก็นำออกมาคลุกกับมะพร้าวขูด เนื้อสัมผัสจะเหนียวหนุบหนับ มีความเค็มจากมะพร้าวนิดหน่อย ถ้าได้ลองชิมจะกินเพลินจนเกลี้ยงในพริบตาเลยเชียว
4. สังขยาไข่
ใครกำลังตามหาสูตรสังขยาไข่หวานฉ่ำอยู่ต้องมาลองทำตามสูตรนี้ จะใช้ไข่ไก่หรือไข่เป็ดก็ได้ ถ้าต้องการสีส้มมากใช้ไข่เป็ดล้วนจะสวย เติมความหวานจากน้ำตาลปี๊บ ชอบหวานน้อยหรือหวานมากปรับตามรสชาติที่ชอบได้เลย ใส่ใบเตยลงไปขยำเพิ่มความหอม เทใส่พิมพ์สี่เหลี่ยมหรือพิมพ์อื่น ๆ ตามชอบ นึ่งเสร็จพักให้หายร้อน กินกับข้าวเหนียวมูนสุดแสนจะเข้ากัน ถ้ากินไม่หมดแช่เย็นได้หลายวันเลยค่ะ
5. สังขยาฟักทอง
เมนูสังขยาฟักทองเรามักเห็นตามร้านขายขนมหวานอยู่เป็นประจำ เป็นสูตรขนมไทยที่นำเอาสังขยาไข่ที่คุ้นเคยมาซุกซ่อนอยู่ในลูกฟักทอง เวลานึ่งก็นึ่งให้สุกพร้อมกับฟักทองไปเลย บางสูตรก็หั่นเนื้อฟักทองผสมกับสังขยาแล้วเทใส่พิมพ์ เห็นแล้วก็น่ากินไปอีกแบบ
6. ขนมถ้วย
ชวนย้อนวัยกับขนมถ้วย หน้าขนมปกติจะผสมแป้ง กะทิ และเกลือ เพื่อให้มีความเค็ม ตัดเลี่ยนกับตัวขนมที่มีส่วนผสมของแป้ง น้ำตาลปี๊บ และกะทิ บางสูตรใส่น้ำใบเตยเพิ่มความหอม และอาจเพิ่มสีผสมอาหารสีเขียวเพื่อให้สีสันดูน่ากินยิ่งขึ้น วิธีการนึ่งจะนึ่งตัวขนมที่อยู่ด้านล่างก่อน พอสุกแล้วก็หยอดส่วนผสมหน้ากะทิลงไป เป็นสูตรมาจาก คุณ RinS Cook Book
7. ขนมใส่ไส้
ขนมใส่ไส้หรือขนมสอดไส้ สมัยโบราณมักใช้ในพิธีขันหมาก ตัวขนมทำจากกะทิหุ้มไส้กระฉีกที่ห่อด้วยแป้งข้าวเหนียวอีกที ความอร่อยอยู่ที่ความหอม มัน เค็ม จากหน้ากะทิ ตัดด้วยรสหวานจากมะพร้าว เอกลักษณ์เด่นคือห่อด้วยใบตองทรงสูง บางสูตรประยุกต์ด้วยการใส่ถ้วยขนาดเล็กพอดีคำ หยอดกะทิตามด้วยไส้กระฉีกตรงกลาง เป็นอีกทางเลือกที่กินง่ายและสะดวก
8. ขนมตาล
ขนมตาล ขนมไทยโบราณแบบนึ่งสีเหลืองจากเนื้อตาลสุก ใส่แป้งกับกะทิ เพื่อให้ขึ้นรูปได้และมีความหอม มัน สูตรนี้ใส่ผงฟู บางสูตรก็ไม่ใส่ หยอดใส่ถ้วยตะไล กระทงใบตอง หรือกรวยใบตอง โรยมะพร้าวขูดฝอยคลุกเกลือ เอาไปนึ่งจนหน้าแตก ถ้าจะกินให้อร่อยที่สุดต้องกินหลังนึ่งเสร็จใหม่ ๆ ไม่เกิน 48 ชั่วโมง จะมีความหอมมาก
9. ขนมฟักทอง
ใครจะไปรู้ว่าฟักทองที่คุ้นเคย นอกจากเอามาทำฟักทองสังขยาแล้วยังเอามาทำขนมฟักทอง ขนมไทยแบบนึ่งสีเหลืองนวล ผสมแป้ง กะทิ มะพร้าว และเกลือ บางสูตรจะใส่เนื้อฟักทองหั่นเต๋าลงไปในเนื้อขนมหรือตกแต่งหน้า ตักหยอดลงในถ้วยตะไล พิมพ์ขนม หรือห่อใบตองเป็นชิ้นสี่เหลี่ยม เนื้อขนมจะเหนียวนุ่มตัดเลี่ยนจากมะพร้าวขูดผสมเกลือ ถ้าได้ลองแล้วจะติดใจ
10. ขนมกล้วย
กล้วยเด็กกินได้ ผู้ใหญ่ก็กินได้เช่นกัน เนื้อขนมใส่กล้วยน้ำว้า บางสูตรใช้กล้วยหอม ใส่แป้ง กะทิ มะพร้าว น้ำตาลทราย บางสูตรใส่ใบเตยลงไปขยำเพิ่มความหอม หยอดใส่กระทงใบตอง กรวยใบตอง พิมพ์ดอกไม้ หรือพิมพ์ถาด แล้วเอาไปนึ่งจนสุก
11. ขนมเข่ง
ช่วงเทศกาลไหว้เจ้าเหมาะที่จะทำขนมเข่ง เมนูขนมไทยแบบนึ่ง ไม่ว่าจะทำกินเองหรือทำขายก็เหมาะ ส่วนผสมหลัก ๆ จะเป็นแป้งข้าวเหนียว บางสูตรใช้แป้งข้าวเหนียวดำ ผสมกับมะพร้าว กะทิ น้ำตาลทราย หรือน้ำตาลปี๊บ หยอดใส่กระทงขนมเข่งทำจากใบตองแห้ง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีกลิ่นหอมติดขนม บางสูตรใส่สีผสมอาหารทำให้ขนมเข่งดูมีสีสันไม่น่าเบื่อ รวมทั้งแต่งหน้าด้วยแปะก๊วย มะพร้าวอ่อน หรือลูกชิด เพิ่มความน่ากินไปอีก
12. ขนมเทียน
ขนมเทียน อีกหนึ่งขนมไทยแบบนึ่ง ส่วนผสมหลักคือแป้งข้าวเหนียวหรือแป้งข้าวเหนียวดำ บางสูตรใส่หญ้าชิงคักเพิ่มความหอม และยังมีขนมเทียนแก้วที่เป็นแป้งบางใส ทำจากแป้งมันหรือแป้งถั่วเขียวมองเห็นไส้ข้างในด้วย สำหรับไส้มีทั้งไส้เค็มคือถั่วพริกไทย และไส้หวานคือมะพร้าวกระฉีก ห่อด้วยใบตองเป็นทรงสามเหลี่ยม หรือประยุกต์ด้วยการหยอดใส่กระทงพอดีคำก็น่ากินไปอีกแบบ
13. ขนมน้ำดอกไม้
ถ้าชอบขนมไทยแบบนึ่งสีสันคัลเลอร์ฟูลขอยกให้ขนมน้ำดอกไม้หรือขนมชักหน้า ตัวขนมทำจากแป้ง น้ำตาลทราย และสีผสมอาหาร บางสูตรใส่สีธรรมชาติ เช่น สีม่วงจากน้ำดอกอัญชัน สีเหลืองจากฟักทอง หยอดใส่พิมพ์ถ้วยตะไล เอาไปนึ่งจนสุก จุดเด่นคือ มีรอยบุ๋มตรงกลาง มีความหอมจากน้ำลอยดอกมะลิ พักไว้จนเย็นแล้วค่อยแคะออก ขนมจะออกมาสวยงามไม่ขรุขระ
14. บุหลันดั้นเมฆ
อีกหนึ่งสูตรขนมไทยแบบนึ่งชื่องามและหน้าตาเก๋นั่นคือ บุหลันดั้นเมฆ ตัวขนมใส่สีอัญชัน ตรงกลางหยอดไข่แดง เนื้อแป้งจะนุ่มมีความหอมมันของกะทิ มีความหวานจากไข่ตรงกลาง ลองทำกันดูไม่ยากอย่างที่คิด เป็นสูตรมาจาก คุณ BlackPiano
15. ข้าวเหนียวมูนอัญชัน
ข้าวเหนียวมูนทั่วไปทำบ่อยก็เอียน ลองเติมน้ำอัญชันให้ดูน่ากินกว่าเดิมกันดีไหม สูตรนี้แช่ข้าวเหนียวกับสารส้มเพื่อให้เม็ดข้าวเหนียวขาวใสน่ากิน เอาไปนึ่งกับใบเตยจนสุกจะทำให้มีความหอมมากขึ้น สุดท้ายเทกะทิและน้ำตาลทรายคลุกเคล้ากับข้าวเหนียวนึ่งจนทั่ว กินกับสังขยาไข่ หน้ากุ้ง หน้าปลาแห้ง หรือกินเปล่า ๆ ก็อร่อย
16. ขนมถ้วยฟู
ขนมถ้วยฟู อีกหนึ่งขนมไทยแบบนึ่งสีสวยหวาน ตัวขนมทำจากแป้งข้าวเจ้า สูตรนี้ใส่ข้าวหอมมะลินึ่งสุกเพื่อให้เนื้อเหนียว ไม่แข็ง ใส่ผงฟู และกลิ่นมะลิเพิ่มความหอม หยอดใส่ถ้วยตะไลเกือบเต็มถ้วยเวลาสุกจะได้ไม่ล้นออกมา เอาไปนึ่งจนหน้าแตก
แนะนำเมนูขนมไทย เมนูขนมนึ่ง และเมนูขนมอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ใครอยากทำเมนูไหนคลิกเลยจ้า
☆ 15 สูตรขนมไทยยอดนิยม ทำง่าย ขายได้ กินเพลิน
☆ 18 สูตรขนมนึ่ง รวมสูตรของหวานทำง่ายไม่ต้องอบ
☆ 20 สูตรขนมทำง่ายไม่ใช้เตาอบ เรื่องง่าย ๆ ใคร ๆ ก็ทำกินเองได้
☆ 9 วิธีทำแพนเค้ก สูตรโฮมเมดหนานุ่มหอมหวาน ง่าย ๆ อร่อยยามเช้า
☆ 7 สูตรบัวลอย ขนมไทยปั้นความสนุกใส่หม้อ เติมความหวานเข้าเส้น